กรอ. จัดทำหลักสูตรเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Learning กว่า 15 หลักสูตร เน้นเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของ อปท. ที่กำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 จำนวน 1,747 โรงงานทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน เกิดประสิทธิภาพ และเป็นไปตามกฎหมาย
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2552 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้ อปท. ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เทศบาล และเมืองพัทยา โดยถ่ายโอนภารกิจการกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 รวมทั้งการรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2
เทคโนโลยีไมโครเวฟแบบใหม่ที่ช่วยให้รีไซเคิลโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้น | FactoryNews ep.53/1
ตลอดจนตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญในพื้นที่ ซึ่งได้แต่งตั้งข้าราชการ อปท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการบริการแก่ประชาชน และให้สามารถแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย และตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 กรอ. รับนโยบายรัฐบาลในการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาความรู้ให้เจ้าหน้าที่ของ อปท. ในการกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ด้วย
นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ. ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามภารกิจถ่ายโอนให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อปท. จึงมอบหมายกองพัฒนาระบบมาตรฐานงานกำกับโรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่1 และ 2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ให้แก่ กทม. เทศบาล และเมืองพัทยา
ปัจจุบันมีโรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร 50 เขต จำนวน 565 โรงงาน และเทศบาล 2,472 แห่ง จำนวน 1,182 โรงงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,747 โรงงาน พร้อมกับเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้แก่ กทม. และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายโอนภารกิจ กรอ. จึงได้จัดทำกระบวนงานต่าง ๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ (e-Learning) ผ่านทางเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม https://www.diw.go.th/webdiw/factransfer/ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับแต่ปี พ.ศ. 2562
โดยในรอบปีที่ผ่านมา กรอ. ให้ความรู้ความเข้าใจภายใต้สื่อการเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 15 หลักสูตร อาทิ การดำเนินการตามมาตรา 37, 38, 39, 40 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 การประเมินกำลังแรงม้าเครื่องจักร การติดตามค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 การรับแจ้งกรณีมีอุบัติเหตุในโรงงาน ตลอดจนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและตรวจการโรงงานทั่วไป พร้อมแสดงความมั่นใจว่า e-Learning จะได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม เนื่องจากเป็นกระบวนงานที่ อปท. ใช้ในการกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่1 และ 2 และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ กรอ. ยังได้จัดทำคู่มือสำหรับเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ อปท. ได้แก่
1. คู่มือการปฏิบัติงานในภารกิจตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. คู่มือการใช้งานระบบยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานแบบดิจิทัล สำหรับเจ้าหน้าที่ อปท.
“กรอ. จัดทำ e-Learning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. ได้เรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา ตอบโจทย์ยุคแห่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย