กรอ. ลุยรีไซเคิลซากรถทั่วประเทศ จับมือภาครัฐ-เอกชน เน้นทำลายอย่างถูกวิธี นำเหล็กกลับมาใช้ในระบบ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโรงงานถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์ แบบครบวงจรอยู่เพียง 2 แห่ง คือ บริษัท ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จังหวัดชลบุรี และบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินงานตั้งแต่การรวบรวมรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน การรื้อชิ้นส่วนยานพาหนะ ตลอดจนการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก ชิ้นส่วนรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ
พลิกโฉมธุรกิจภาคอุตสาหกรรม สู่ยุค Industry 4.0 ด้วย Smart Solution จาก PTT Digital อย่างครบวงจร
ซึ่ง กรอ. จะได้ผลักดันให้ธุรกิจชนิดนี้เกิดการขยายตัว เพื่อลดปริมาณการ นำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ และเป็นการนำทรัพยากรจากการแยกซากรถมาหมุนเวียนให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็น ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม อาทิ ยาง พลาสติก โลหะมีค่าสกัดได้จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะที่เป็นเหล็ก ซึ่งในรถยนต์หนึ่งคันมีสัดส่วนเหล็กมากถึง 69% คิดเป็นมูลค่ากว่าสามหมื่นบาทต่อคัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกำลัง การบริโภคเหล็กอยู่ที่ 19 ล้านตันต่อปี โดยเป็นการนำเข้า 12 ล้านตัน และผลิตเอง 7 ล้านตัน
นายวันชัยฯ กล่าวต่อว่า จากสถิติจำนวนรถจำแนกตามอายุรถทั่วประเทศ กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 ประเทศไทยมีรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 5,033,307 คัน ซึ่งหากรีไซเคิลซากรถทั้ง 5 ล้านคัน จะได้เหล็กประมาณ 6.55 ล้านตัน และคาดว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าจำนวน รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน ซึ่งรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และขาด การบำรุงรักษาตามมาตรฐานเป็นสาเหตุหลักอย่างหนี่งของปัญหาฝุ่น PM 2.5 การนำไปรีไซเคิลจึงมีความจำเป็น อย่างยิ่ง
โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการสาธิต สำหรับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานเพื่อการรีไซเคิลทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับซากยานพาหนะที่หมดอายุใช้งานในประเทศไทย (ELV Project: End-of-life Vehicles in Thailand) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยี อุตสาหกรรม หรือ NEDO เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากซาก รถยนต์ที่ใช้แล้วในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นต้นแบบการรีไซเคิลทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย ในอนาคต
จากความร่วมมือดังกล่าว ได้มีการสรุปทำเป็นคู่มือมาตรฐานการทำงาน (คู่มือการแยกชิ้นส่วน) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการถอดแยกซากรถยนต์ เพื่อเสนอแนวทางการจัดการ เพื่อสร้าง แรงจูงใจให้ผู้ที่มีรถยนต์เก่า นำรถยนต์มาทำลายอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งกระตุ้นให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดย การซื้อรถยนต์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่การเกิดระบบจัดการซากรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยต่อไป อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย