กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ากระจายความสุขสู่ประชาชน

Date Post
12.09.2022
Post Views

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ากระจายความสุขสู่ประชาชน-เกษตกร-ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผ่านแคมเปญ“หนุน SMEs -ส่งเสริมรถยนต์ EV- เพิ่มศักยภาพแร่โพแทช ลดต้นทุนปุ๋ย”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่านรายการ “คุยเรื่องบ้าน เรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากซึ่งก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญนำไปสู่การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถกระจายรายได้อย่างทั่วถึงทุกท้องที่ 

ที่สุดของเซอร์กิตเบรกเกอร์ ขนาดกะทัดรัดต้อง SACE Tmax XT เท่านั้น!!!

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในระดับชุมชนและประชาชนทั่วไปครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยการฟื้นฟูผู้ประกอบการ สร้างทักษะจำเป็นให้กับแรงงาน เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจและสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้ได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการดำเนินโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม”หรือ “โครงการอาชีพดีพร้อม” นำร่องในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ชลบุรี สงขลา และยะลา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถบรรเทาปัญหาปากท้องของประชาชนที่ขาดแคลนรายได้จากการว่างงานและยังเพิ่มทักษะอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีให้ได้รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา 

และจากความสำเร็จดังกล่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก จึงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณ 1,249 ล้านบาท ให้แก่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมในการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยภายใต้“โครงการอาชีพดีพร้อม”กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ดำเนิน “โครงการอาชีพดีพร้อม”เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงสิ้นปีนี้ 

โดยมี 4 หลักสูตร ได้แก่ 1. พัฒนาทักษะด้านการผลิต ประกอบด้วย ทักษะอาชีพลดรายจ่าย และทักษะอาชีพเพิ่มรายได้ 2.พัฒนาทักษะด้านการบริการ อาทิ กลุ่มอาชีพช่าง หรือกลุ่มอาชีพบริการ 3. พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ต้นทุนอัตลักษณ์เดิมในชุมชน ให้ตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน และ 4. พัฒนาต่อยอดทักษะจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การบริหารด้านการเงิน และการสร้างแบรนด์สินค้า 

“โครงการนี้ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างอาชีพเสริมที่มั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนรวม 700,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ล้านบาท เชื่อว่าการดำเนิน“โครงการอาชีพดีพร้อม” ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นการเปิดประตูบานใหม่ ให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงโอกาส ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประโยชน์ทั้งหมด จะกลับคืนสู่พี่น้องประชาชนฐานรากซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย”

“ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะได้รับคือความรู้และทักษะใหม่ในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และภูมิปัญญาของคนในชุมชน สามารถนำไปต่อยอดได้จริง ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้จากภายใน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ” นายสุริยะ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังผลักดันส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมีการใช้ในจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากรถยนต์ EV เป็นเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาโลกร้อน ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และปัญหาความผันผวนของราคาพลังงาน 

รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ไปสู่ EV โดยคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมาย 30@30 (30 แอท 30) หรือ การผลิต EV ให้ได้ร้อยละ30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ออกนโยบายสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น มาตรการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station ให้ครอบคลุมการใช้งานมากที่สุด โดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านลดอากรนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV ในประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2564 ปรากฎว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก 

จากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีการจดทะเบียน EV เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 ทั้งปี โดยคาดการณ์ว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV ทั้งปี 2565 อาจสูงถึง 10,000 คัน 

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญต่อมาตรฐานและความปลอดภัยของรถยนต์ EV โดยได้ก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติหรือ ATTRIC (แอททริค) และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้เกิดการยกระดับการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในด้านผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน และนวัตกรรม และต่อยอดอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม รวมทั้งผลักดันให้มีการกำหนดมาตรฐานรถยนต์ EV และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานการใช้พลังงาน มาตรฐานแบตเตอรี่ มาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในการใช้ EV ที่ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อไปด้วยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากหลายปัจจัยรวมกันได้แก่ การขึ้นราคาของแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตปุ๋ยเคมี สงครามในยูเครน ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยที่สำคัญ เช่น รัสเซีย และจีน ซึ่งราคาปุ๋ยเคมีเริ่มมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

ดังนั้น การหาทางออกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทย ด้วยการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีระยะยาวคือ โครงการเหมือนแร่โพแทช เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา โดยการนำแร่โพแทช มาสกัดเป็นปุ๋ยโพแทชซึ่ง เป็น 1 ใน 3 ของธาตุอาหารหลักของพืชใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยในปีนี้ (2565) ราคาปุ๋ยโพแทชภายในประเทศ ปรับขึ้นจากตันละ 9,000 บาท เป็นตันละ 25,600 บาท และมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก

สำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชจะอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ถูกต้องและคำนึงถึงองค์ประกอบทุกส่วนเป็นสำคัญ ทั้งความปลอดภัยของตัวเหมือง การขุดเจาะที่ไม่ทำให้ดินยุบ โครงสร้างที่แข็งแรง และด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการทำเหมืองแล้วจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับแหล่งน้ำ ดิน ฝุ่น การปนเปื้อนจากเกลือซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องกำชับกับบริษัทผู้ประกอบกิจการให้มาก 

ขณะเดียวกันเชื่อมั่นว่าโครงการเหมืองแร่โพแทชจะทำให้ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนบนเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญโดยเฉพาะธุรกิจปุ๋ยซึ่งหากมีการทำเหมืองแร่โพแทชก็ลดการนำเข้าปุ๋ยโพแทชประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยสูงเป็นอันดับ 5 ในทวีปเอเชีย โดยนำเข้ามาจากประเทศแคนาดา รัสเซีย เบลารุส และเยอรมนีที่สำคัญคือ เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลงไม่น้อยกว่า 20% เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่งมาจากต่างประเทศอีกต่อไป

และจากสถานการณ์ฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วมเพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 67 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

พร้อมทั้งให้จัดทำแผนงานเฝ้าระวัง โดยให้ประเมินสถานการณ์ สรุปข้อมูลปริมาณน้ำฝน เตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้า/เครื่องยนต์ถาวรที่สามารถเคลื่อนย้ายได้/กระสอบทราย/คันกั้นน้ำติดตั้งเร็วที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งให้มีการขุดลอกรางระบายน้ำ คูคลอง ทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม เสริมคันกั้นดินในบางพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกหลากเข้าพื้นที่ และเตรียมพร่องน้ำในพื้นที่เพื่อเตรียมการรับน้ำ และให้ติดตามเฝ้าระวังในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้มีการจัดทำแผนระยะยาวด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากการที่มีน้ำทะเลหนุนได้บางช่วง โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี (24 เดือน) โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2567

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex