กสอ.เดินหน้าปั้นหลักสูตรเดอะจีเนียสเกษตรอุตสาหกรรม

กสอ.เดินหน้าปั้นหลักสูตรเดอะจีเนียสเกษตรอุตสาหกรรม

Date Post
17.08.2020
Post Views

กสอ. ปั้นหลักสูตร Genius the Creation เสริมศักยภาพเกษตรอุตสาหกรรมทรานฟอร์ม   สร้างธุรกิจโมเดลใหม่ ปรับรูปแบบธุรกิจ โดยหลักสูตรฯ โค้ชและผู้ประกอบการออกแบบได้ด้วยตัวเอง

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)  เปิดเผยว่า  ขณะนี้ กสอ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จีเนียส เดอะ ครีเอชั่น (Genius the Creation) ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษตอบโจทย์นโยบายเร่งด่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็นหลักสูตรภายใต้ Genius Academy ที่ กสอ. ได้การดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง 3-4 ปี มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ใน 3 ด้านอันได้แก่  (1) เศรษฐกิจฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น (2) เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น (3) เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งในชุมชน 

 “โครงการนี้ถือเป็นโครงการหนึ่งในหลักสูตร Genius Academy มีจุดเด่นในการใช้อัจฉริยะโค้ชมาสอนให้ผู้ประกอบการเป็นอัจฉริยะ โดยอัจฉริยะโค้ชที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เชิญมาโค้ชผู้ประกอบการล้วนเป็นโค้ชที่มีการยอมรับในธุรกิจนั้นๆ มีความสำเร็จในด้านนั้นที่แท้จริง เพื่อเป็นทางลัดของผู้ประกอบการในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าโครงการมีจำนวนหลักร้อย ผ่านกระบวนการคัดมาติวเข้มให้เหลือ 100 ราย และมาถึงวันนี้ คือ ห้วงที่สองของการอบรม เหลือเพียง 42 รายจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้ประกอบการ (1) แปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม (2) เกษตรอินทรีย์ (3) เกษตรท่องเที่ยว” นายณัฐพลกล่าว

ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการ Genius the Creation มุ่งเน้น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 

1.การพัฒนาในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมมืออาชีพ

2. การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจและสอดรับกับความต้องการของตลาด

3.วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจ ที่จะเฟ้นหาศักยภาพภายในตัวผู้ประกอบการออกมาเป็นวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมภายหลังจากการผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ผ่านโค้ชผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ประสบความสำเร็จ

“ในวันนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้นำผู้ประกอบการทั้ง 42 ราย มาเรียนรู้การพัฒนากลยุทธ์เกษตรอุตสาหกรรมจากหนึ่งในอัจฉริยะโค้ชของโครงการฯ คือ คุณโชค บูลกูล เจ้าของฟาร์มโชคชัย ผ่านมุมมองในการเรียนรู้จากคุณโชคฯ ครั้งนี้ ที่ได้เน้นในเรื่อง

(1) การประกอบเกษตรอุตสาหกรรมต้องเท่ห์ (Brand Image) เค้าต้องมีความภูมิใจในการเป็นเกษตรอุตสาหกรรม

(2) เกษตรคุณภาพ (Quality Agriculture) จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่หายากเมื่อมีความต้องการซื้อ ผู้ซื้อต้องสั่งจอง ทำให้เราสามารถกำหนดราคาเหนือราคาตลาดได้

(3) เกษตรแม่นยำสูง (Precision Farm) เป็นการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการควบคุมเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์ ดาวเทียม และโดรน มาบริหารจัดการในไร่ฟาร์มเพื่อวิเคราะห์แปลงผลผลิตในแปลงเกษตรประสิทธิภาพสูง และการใช้เทคโนโลยีควบคุมสภาพอากาศ แสงสว่าง การให้อาหาร การฆ่าเชื้อ ในปศุสัตว์” นายณัฐพลกล่าว

ภายหลังจากวันนี้ จะมีการพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง 42 รายอย่างเข้มข้น และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การตลาดทั้ง 42 ราย และจะคัดให้เหลือ 10 ราย ที่โครงการ Genius the Creation จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ฟรี และจะต่อยอดคัดเลือกให้เหลือ 4 กิจการสุดยอดให้เป็น Best of the Best เกษตรอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโมเดลในการขยายผลไปยังเกษตรอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากซูปเปอร์โค้ช-วิทยากร ชื่อดังระดับโลกในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ นอกเหนือจากซุปเปอร์โค้ชชั้นนำด้านฟาร์มเกษตร โค้ชโชค – โชค บูลกูล แห่งฟาร์มโชคชัย แล้วยังมี โค้ชยอด-ฉัตรชัย ระเบียบธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยอด คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักวางวิสัยทัศน์ที่ได้รับการยอมรับ และโค้ชแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมท์ ดีไซน์ จำกัด สุดยอดนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับด้วยรางวัลระดับโลก การันตีถึง 78 รางวัล ที่จะให้ความรู้ในหลักสูตรดังกล่าวด้วย

 “โครงการนี้ถือเป็นหลักสูตรแรกของธุรกิจการเกษตรไทยที่มุ่งยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตรของไทยให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง  ด้วยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมระดับพรีเมียมที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเป็นต้นแบบการพัฒนาโดยดึงความคิดสร้างสรรค์ (Creative Model) นำในการพัฒนาธุรกิจ ผสมผสานกับการหน้าที่การใช้งาน (Functional Model) ซึ่งเกษตรอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนาจากโครงการนี้ จะเป็นหัวขบวนในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทาน ให้ธุรกิจเกษตรของไทยอยู่รอดและมีความยั่งยืน  ตามแนวนโยบาย ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” นายณัฐพลกล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์