สำหรับใครที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในพื้นที่โรงงาน จะเห็นได้ว่ามีการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อกันเป็นเรื่องปรกติแม้ว่าจะหาซื้อกันได้ยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหนก็ตาม เมื่อมีการใช้งานป้องกันแล้วคุณได้คำนึงถึงวิธีกำจัดอย่างถูกต้องกันหรือยังครับ?
แม้ว่าคำแนะนำจากเอกสารทางการของชาติตะวันตกทั้งหลายจะกล่าวไว้ว่าให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาที่ป่วยหรือมีความเสี่ยงเท่านั้น แต่ดูเหมือนแนวคิดของชาวเอเชียอย่างเรา คือ กันไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ดูเหมือนการทำงานของภาครัฐจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้เราก็คงต้องประคองดูแลกันไปให้ได้ดีที่สุด
สำหรับผู้ประกอบการทั้งหลาย การสร้างค่านิยมขององค์กรให้เกิดการรักษาควาสะอาดเป็นมาตรฐานร่วมกันนั้นเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการทำให้ใช้งานอย่างจริงจังให้ได้ รวมถึงการให้ความรู้และความเข้าใจในการดูแลและป้องกันอย่างถูกต้อง เช่น การล้างมือจำเป็นต้องใช้น้ำสบู่และล้างงติดต่อกันอย่างน้อย 20 วินาที หรือการใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอยู่ที่ประมาณ 70% แต่ยังมีอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันกับการตระหนักรู้เหล่านี้ครับ นั่นคือการกำจัดหน้ากากอย่างถูกต้องถูกวิธีนั่นเอง
กำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างไร?
สิ่งสำคัญที่ต้องจำเอาไว้เป็นประการแรกเลยครับ ไม่ว่าอย่างไรหน้ากากที่ใช้แล้วนั้นถือว่า ‘เป็นหน้ากากที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วทั้งสิ้น’ นั่นหมายความว่าเมื่อใช้เสร็จแล้วให้ดำเนินการจัดการได้เลยครับ
ประการต่อมาเป็นเรื่องที่น่าหนักใจเล็กน้อยสำหรับแรงงานที่ต้องทำงานในโรงงานและซัพพลายเชนอย่างมาก นั่นคือถ้าหน้ากากของคุณเปียกล่ะก็มันจะไม่สามารถป้องกันเชื้อได้อีกต่อไปแล้วครับ แม้อายุการใช้งานหน้ากากโดยประมาณจากคำแนะนำอาจอยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง แต่ถ้าหากหน้ากากเปียกแนะนำให้เปลี่ยนทันทีหากเป็นไปได้ครับ
การกำจัดหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งนั้นโดยมากเป็นไปตามมาตรฐานการทำงานโดยทั่วไปของงานอุตสาหกรรม แต่ต้องมีความละเอียดรอบคอบและรัดกุมขึ้นดังนี้
1. ให้แยกส่วนถังขยะติดเชื้อออกมาโดยเฉพาะ อยู่ในจุดที่มองเห็นง่ายและไม่กีดขวางการทำงาน และมีการระบุหน้าถังให้ชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ
2. ให้ถังขยะเป็นระบบเปิดปิดโดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถังขยะแบบเหยียบและมีถุงขยะภายในรองรับป้องกันการปนเปื้อนกับภาชนะภายนอก
3. ต้องมีการคัดแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะอื่น ๆ อย่างชัดเจน โดยผู้ทำหน้าที่คัดแยกขยะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง เช่น มีถุงมือยางอย่างหนา มาผ้ายางคลุมป้องกันการปนเปื้อน รวมถึงมีหน้ากากอนามัยอีกด้วย
4. การเคลื่อนย้ายและกำจัดขยะติดเชื้อต้องทำทุกวัน ขนย้ายโดยใช้อุปกรณ์เฉพาะซึ่งมีการปิดกั้นที่แน่นหนา ซึ่งวัสดุนี้ต้องทำความสะอาดง่าย
5. แหล่งที่พักขยะมูลฝอยติดเชื้อมีลักษณะไม่แพร่เชื้อ สะดวกต่อการขนไปกำจัด สามารถรองรับขยะติดเชื้อได้อย่างน้อยประมาณ 2 วัน ผนังและพื้นต้องเรียบ ทำความสะอาดง่าย มีอากาศระบายปลอดโปร่ง ป้องกันการเข้าถึงของสัตว์และแมลง
6. ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ซึ่งวิธีการเหล่านี้สามารถลดการติดเชื้อในโรงงานได้ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อจากการกำจัดขยะที่ไม่เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคได้ด้วยครับ
สำหรับหน้ากากกลุ่มที่ต้องนำมาใช้ซ้ำนั้นอุปกรณ์ต้องได้รับการทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้งานเพื่อความแน่ใจในสวัสดิภาพการทำงาน โดยก่อนการใช้งานผู้สวมใส่สามารถใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์หรือสเปรย์พ่นฝอยเพื่อฆ่าเชื้อเบื้องต้นได้ ในกรณีหลังการใช้งานสามารถล้างทำความสะอาดเบื้องต้นได้ แต่แนะนำให้มีการใช้งานเครื่องฆ่าเชื้อ UV (Ultra Violet) ร่วมด้วยเพื่อสร้างความมั่นใจให้ดียิ่งขึ้น
ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการทำความสะอาดพื้นที่ซึ่งบางครั้งอาจจะมีรายละเอียดเยอะเข้าถึงยาก สามารถเลือกใช้การทำความสะอาดด้วยแสง UV ช่วงคลื่นพิเศษเพื่อย้ำอีกครั้งให้เกิดความมั่นใจได้เช่นกัน
แม้ว่าบางขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยากเกินไปเสียหน่อยสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่อย่างน้อยการจัดเก็บและคัดแยกขยะติดเชื้ออย่างรัดกุมจะสามารถปกป้องโรงงานของคุณได้ทั้งตัวแรงงาน รวมไปถึงคุณภาพของสินค้าอีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมวางแผนการบริหารจัดการขยะติดเชื้อและเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องให้พร้อมนะครับ
อ้างอิง:
Mohfw.gov.in/DraftUseofmaskbypublic.pdf
Meiko.info/en/case-studies/respiratory-equipment/
Draeger.com/Library/Content/detergent-disinfectant-masks-a5-fl-9072102-en.pdf
Nymag.com/strategist/article/does-uv-light-kill-germs-best-sterilizer.html
Bbc.com/news/business-51914722
Anamai.moph.go.th/download/download/102557/Strategic_Plan/6/5_13.pdf