นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนราช กรุ๊ป สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน และประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ด้วยแนวคิด “ทำแล้ว ทำต่อ ทำให้ดีขึ้น”
โดยจะดำเนินการผลักดันภารกิจสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย
1) กลยุทธ์ธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก และธุรกิจนอกภาคผลิตไฟฟ้า หรือ Non-power เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างมูลค่าและคุณค่าระยะยาวให้กับบริษัทฯ อีกทั้งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
2) การลงทุน ที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลระหว่างการเข้าซื้อกิจการที่ดำเนินการแล้ว และการพัฒนาโครงการใหม่ เพื่อรักษากระแสเงินสดและอัตราผลตอบแทนให้เหมาะสม
3) การบริหารสินทรัพย์ โดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความมั่นคงเชื่อถือได้สำหรับประเทศและลูกค้า ตลอดจนสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับบริษัทฯ
4) การบริหารการเงิน ให้พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น
5) การบริหารทรัพยากรบุคคล ด้วยการเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในอนาคต รวมถึงการเน้นย้ำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกระบวนการทำงานและการดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วยเชื่อมั่นว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับองค์กรให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
นายนิทัศน์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของราช กรุ๊ป ยังเดินหน้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยจะมุ่งเป้าให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจ และความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จควบคู่กันไป สำหรับโครงการประเภทเชื้อเพลิงหลัก บริษัทฯ จะพิจารณาลงทุนในประเทศที่ยังคงมีแผนใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ โดยจะเน้นที่ก๊าซธรรมชาติเป็นสำคัญเพราะยังได้รับการยอมรับในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่นได้ ซึ่งประเทศไทยและอินโดนีเซียยังมีโอกาสที่ดี ส่วนโครงการพลังงานทดแทน ยังคงเดินหน้าสานต่อเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้สำเร็จไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2573 เพื่อสนับสนุนโรดแมปการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศด้วย สำหรับประเทศที่อยู่ในความสนใจลงทุนจะเป็นฐานธุรกิจเดิมของบริษัทฯ ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย สปป.ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567-2573 มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 700 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการที่อยู่ในมือรวมประมาณ 4,340 เมกะวัตต์ สำหรับธุรกิจ Non-power บริษัทฯ พิจารณาที่จะขยายการลงทุนครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งรวมถึงระบบโลจิสติกส์ เช่นเดียวกับธุรกิจบริการสุขภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักกับเชื้อเพลิงในอนาคต โดยเฉพาะไฮโดรเจน รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของสินทรัพย์ ได้แก่ เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อบริหารต้นทุนและระบบดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น โดยยังคงเป้าหมายรายได้จากธุรกิจกลุ่มนี้ที่ร้อยละ 5 ในปี 2570 ซึ่งในปีนี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรงบลงทุนไว้จำนวน 15,000 ล้านบาท
“นอกเหนือจากการลงทุนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มแล้ว การบริหารสินทรัพย์และการเงินก็ได้วางแนวทางที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้มีความสม่ำเสมอและรักษาผลตอบแทนการลงทุนให้กับบริษัทฯ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในระดับที่สมเหตุสมผล สินทรัพย์โรงไฟฟ้าทั้งประเภทเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนถือเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ในการบริหารสินทรัพย์จะเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการติดตามการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในด้านการเงินจะให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งเงินทุนรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจใหม่ ตลอดจนการบริหารต้นทุน สภาพคล่อง และผลตอบแทบสำหรับผู้ถือหุ้น ที่สำคัญ เราจะมุ่งพัฒนาศักยภาพความสามารถของพนักงานโดยการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยผนวกเข้าไปในกระบวนการทำงานภายในทั้งองค์กรและบริษัทในเครือ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้ราช กรุ๊ป สามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงและส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง” นายนิทัศน์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจะสานต่อและยกระดับการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยเฉพาะประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อบริษัทฯ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความผูกพันกับชุมชน สิทธิมนุษยชน ความพึงพอใจของลูกค้า การบริหารซัปพลายเชน การต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยบริษัทฯ ได้นำหลักการและมาตราฐานที่สากลยอมรับมาใช้ในการดำเนินงานในแต่ละประเด็นซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทฯ ได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และได้วางแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ 3 วิธีการ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายย่อยในปี 2573 ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานโดยจะลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและธุรกิจสีเขียว ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตรวม และการชดเชยหรือดูดกลับคาร์บอน โดยมีเป้าหมายเพิ่มการดูดกลับคาร์บอนจากภาคป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 1 ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย