Kosmo

บี.กริม ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร เสร็จแล้ว

Date Post
09.08.2021
Post Views

บี.กริม เพาเวอร์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ” เขื่อนสิรินธร ครบถ้วน กฟผ. ประกาศความพร้อมจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ต.ค. นี้

บี.กริม  ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร เสร็จแล้ว

โครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ” เขื่อนสิรินธร ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้อนุมัติให้ กิจการค้าร่วม บี.กริม เพาเวอร์-เอ็นเนอร์จี้ ไชน่า (B.Grimm Power-Energy China Consortium) เป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเป็นผู้รับผิดชอบส่วนงานการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้แก่ กฟผ. ซึ่งมีการลงนามไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 แล้วนั้น  

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ความคืบหน้าล่าสุด บริษัทได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรครบทั้งหมด 7 ชุด พร้อมติดตั้งทุ่นคอนกรีตของระบบยึดโยงใต้น้ำและก่อสร้างอาคารสวิตช์เกียร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย กฟผ. ได้เริ่มทดสอบการขนานเครื่อง (First Synchronization) ชุดแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และจะทำการทดสอบอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้

บี.กริม  ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร เสร็จแล้ว
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

สำหรับโครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ” เขื่อนสิรินธร  ถือเป็นโครงการแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้  มีกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 842 ล้านบาท ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิ้ลกลาสที่เหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูง และมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำอยู่ตลอดเวลา และใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม 

โดยติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนพื้นที่ผิวน้ำกว่า 450 ไร่ ใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมร่วมกับเขื่อนของ กฟผ. เช่น หม้อแปลง  สายส่ง สถานีไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตมีราคาถูกลง โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดร่วมกันระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ เพื่อเสริมความมั่นคงพลังงานสะอาดของประเทศไทย โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ประมาณ 47,000 ตันต่อปี 

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การพัฒนาและสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำให้กับ กฟผ. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของประเทศไทย รวมถึงเป็นโอกาสในการพัฒนาและดำเนินการโครงการโซลาร์ทุ่นลอยน้ำในโครงการอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต ด้วยความพร้อมและศักยภาพของบริษัทภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลก “เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีศักยภาพและความได้เปรียบสูงในการบริหารจัดการต้นทุน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และการพัฒนาเทคนิควิศวกรรมที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการพัฒนาและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาด พร้อมตอบโจทย์รูปแบบความต้องการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศที่มีนโยบายลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว ซึ่งบริษัทพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนและดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยกันอย่างยั่งยืน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์