Kosmo
ปตท.สผ. กำไรครึ่งปีแรก 598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปตท.สผ. กำไรครึ่งปีแรก 598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Date Post
02.08.2021
Post Views

ปตท.สผ. เผย ผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิ 598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) จากปัจจัยหนุนด้านปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น และราคาขายผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก 

ปตท.สผ. กำไรครึ่งปีแรก 598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 2564 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 3,546 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 109,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับรายได้รวม 2,779 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 87,549 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 2563

IFX ATV Dependability-Part of your life Part of tomorrow

 โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่  413,168 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จาก 345,207 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการซื้อสัดส่วนการลงทุนในแปลง 61 ประเทศโอมาน ส่งผลให้สามารถเพิ่มปริมาณการขายได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 

รวมทั้ง การเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช ประกอบกับผู้ซื้อก๊าซฯ ได้เรียกรับก๊าซธรรมชาติจากโครงการในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นด้วย ในด้านราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็น 41.35 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จาก 40.15 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด (รวมภาษีเงินได้) ในครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 2,953 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 91,136 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับ 2,382 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 75,000 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยปัจจัยหลักมาจากภาษีเงินได้ที่สูงขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการสำรวจปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์โครงการสำรวจในต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ลดลงมาอยู่ที่ 27.57 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เทียบกับ 30.62 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ของครึ่งแรกปี 2563 โดยเป็นผลมาจากการบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ Expand ที่ขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 598 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 18,673 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 409 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 12,935 ล้านบาท) โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา ในระดับร้อยละ 75 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้   

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,768 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 55,624 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 222 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 7,140 ล้านบาท)  เพิ่มขึ้น ร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้จากผลประกอบการดังกล่าว มติคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2564 ที่ 2 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 13 สิงหาคม 2564 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณการขายอีกครั้ง 

นายพงศธร กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในครึ่งแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ Execute and Expand ได้อย่างชัดเจน โดยการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเสร็จสิ้นเร็วกว่าที่คาด และยังสามารถผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติได้เต็มกำลังการผลิตที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมถึงการเร่งการผลิตก๊าซฯ ในโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช ทำให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกด้วย เราจึงปรับเพิ่มเป้าปริมาณขายสำหรับปี 2564 อีกครั้ง เป็น 412,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 405,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ที่เคยได้ประกาศไปในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

ในด้านการสำรวจ จากการที่ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจ ค้นพบก๊าซธรรมชาติและน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่งในประเทศมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลุมโดกง-1 หลุมซีรุง-1 หลุมกุลินตัง-1 รวมทั้งการค้นพบแหล่งลัง เลอบาห์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทเคยสำรวจพบ โดย ปตท.สผ. มีแผนจะเร่งการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้ เพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มปริมาณสำรองให้กับบริษัทต่อไปในระยะยาว” 

ส่วนการเตรียมแผนการรองรับ แม้ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ นั้น นายพงศธร กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งแผนงานหลักที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญ คือการเปลี่ยนผ่านสิทธิการเข้าเป็นผู้ดำเนินการของแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งขณะนี้ บริษัทยังไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าพื้นที่ จึงส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ล่าช้าจากกำหนดไปค่อนข้างมาก และถึงแม้จะได้รับการยินยอมให้เข้าพื้นที่ได้ในช่วงเวลานี้ การผลิตก๊าซฯ ในปี 2565 ให้ได้ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะเป็นไปได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมแผนงานและกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมหากสามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่ ปตท.สผ. สามารถทำได้ รวมทั้ง ได้เตรียมแผนรองรับเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศ โดยจะจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ในอ่าวไทยมาทดแทนในบางส่วน 

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์