ก.พลังงาน เผย แนวโน้มการใช้และราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภูมิภาคตะวันตกเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น พร้อมเตรียมใช้กลไกกองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพหากกรณีราคาผันผวนหนัก
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว กอปรกับประเทศในแถบภูมิภาคตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น
โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 62 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ตุลาคม 2564 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ รวมถึงราคาพลังงานและเชื้อเพลิงในทวีปยุโรปที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซคงคลังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งอุปทานจากรัสเซียที่ลดลงต่ำกว่าปกติ เนื่องจากอุปสงค์ทางฝั่งเอเชีย ที่เพิ่มสูงขึ้น
ครบวงจร! วิเคราะห์และทดสอบชิ้นงานตัวอย่างครบทุกโซลูชั่นที่ Coax Technical Center [SuperSource]
นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนไอดาและนิโคลัส ทำให้การผลิตหายไปกว่าราว 26 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคายืนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อมในการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการราคาพลังงานเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ให้ การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมาให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564
โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุต่อว่า ในส่วนของสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะไบโอดีเซลราคาน้ำมัน B 100 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาอ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 20 – 26 กันยายน 2564 อยู่ที่ 40.47 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.53 บาทต่อลิตร จากราคาวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มน้อยลง โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 13 – 17 ก.ย. 64 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.70 – 8.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
- ก.พลังงาน เร่งเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติ
- ก.พลังงาน สั่งหน่วยงาน WFH ถึง 31พ.ค.นี้
- ก.พลังงาน ยืนยัน โครงการโซลาร์เซลล์ แม่สะเรียง ใช้งานได้ตามปกติ
- ก.พลังงาน จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ 2,400 ล้าน
นายสมภพ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีความผันผวน ซึ่ง กระทรวงพลังงาน ได้มีการติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงการดูแลสถานการณ์ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเตรียมพร้อมกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม และในอีกบทบาทหนึ่งของกองทุนน้ำมันฯ คือ การสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ จะช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
นอกจากนั้น การนำเอทานอลและไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันยังช่วยลดการนำเข้า สร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในประเทศ และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งปัจจุบัน ราคาน้ำมันดีเซล (B10) กระทรวงพลังงานก็มีมาตรการสนับสนุนทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมัน B7 ถึงลิตรละ 3 บาทอีกด้วย ส่วนสถานการณ์โควิดขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลสนาม การบริจาคอุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งการสนับสนุนหาเตียงและส่งต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งหน่วยงานจะยังคงดำเนินการต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย