“พิมพ์ภัทรา” ลงพื้นที่โรงงาน แวกซ์ กาเบ็จ จ.ราชบุรี ติดตามใกล้ชิด “ลั่น” การใช้อำนาจรัฐต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย ห่วง ปชช. ในพื้นที่เตรียมเยียวยาเต็มที่ให้ครอบคลุมทุกปัญหา
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่โรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานที่เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมากกว่า 20 ปี แม้ว่าจะสั่งการตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังคงมีกากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุตกค้างในพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งกระทบกับประชาชนและชุมชนรอบโรงงานในภาคเกษตรกรรมและน้ำอุปโภค บริโภค โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีระกิิตติ์ รันธกิจธนวิชญ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกณัฐ พร้อมพันธ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา นางสาวกุลวลี นพอมรบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจ.ราชบุรี ร่วมลงพื้นที่
รมว.อุตฯ เร่งยกระดับผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รองรับ BCG Model
“รมว.พิมพ์ภัทรา” กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าในนามของกระทรวงอุตสาหกรรมจริงจังและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนโดยรอบโรงงาน และ ได้สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เร่งแก้ไขปัญหาจากกากอุตสาหกรรมที่เป็นมลพิษต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามขั้นตอนและเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกระทบภาคประชาชนโดยตรง พร้อมทั้งติดตามการดำเนินการของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติ งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 59.8 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจ้างเหมาบริการกำจัด/บำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียเคมีวัตถุที่ตกค้างในพื้นที่ของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด พร้อมกำชับตรวจสอบพื้นที่ ตลอดจนสุ่มเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่าง จำนวน 54 ตัวอย่าง ประกอบด้วยของเหลว 14 ตัวอย่าง และของแข็ง 40 ตัวอย่าง แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย จึงสั่งการให้ กรอ. ตรวจกำกับการรวบรวม ขนถ่าย ขนส่ง และบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุ จำนวน 13,439 ตัน ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ แล้วเสร็จตามสัญญา คือภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567
นายศุภเวศ ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในด้านแผนการฟื้นฟูเยียวยาการประปาและทรัพยากรน้ำ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งเตรียมแผนโครงการศึกษาฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงาน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการครอบคลุมได้ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ของตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี