Kosmo

ยุคทองของหุ่นยนต์ ?

Date Post
21.11.2018
Post Views

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเริ่มมีบทบาทต่อกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำ และมีกำลังการผลิตในปริมาณมาก และต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตขั้นสูงให้สอดคล้องกับภาคการผลิตของประเทศไทยที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาไปยังอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งนี้ ประเทศไทยจึงได้มองเห็นโอกาสทองพร้อมทั้งตั้งเป้าเป็นฮับในการผลิตชิ้นส่วนและประกอบหุ่นยนต์ในอาเซียน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ Modern Manufacturing มีคำตอบ

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงหุ่นยนต์ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของหุ่นยนต์ที่จะมาเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีผลิตภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมแล้ว การนำหุ่นยนต์มาใช้งานยังเป็นการเพิ่มผลิตภาพด้านแรงงานไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย

หุ่นยนต์จะแทนที่แรงงานจริงหรือ?

รศ.ดร.ชิต เล่าว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน คนเชื่อกันว่า การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติจะทำให้คนตกงาน แต่ความจริงนั้น คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลากรในการทำงานจะส่งผลให้แรงงานระดับล่างย้ายกลับภูมิลำเนา และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา ได้แก่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น การประยุกต์ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อรองรับกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเมื่อแรงงานเหล่านั้นหายไป

“หลายคนคงกลัวว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมาแทนที่แล้วทำให้คนตกงาน ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงหุ่นยนต์น่าจะมาแทนที่แรงงานระดับล่าง ซึ่งทุกวันนี้คนไทยไม่ได้ทำงานระดับนี้แล้ว เพราะฉะนั้นการเข้ามาของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจึงไม่ใช่สาเหตุของการตกงานทั้งหมด และแม้จะใช้แขนกลหรือหุ่นยนต์เข้ามาแทนยังไงก็ต้องใช้คนมาควบคุมหุ่นยนต์อยู่ดี คนทำงานจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง”

ไม่ทำ ไม่เปลี่ยน ไม่รอด

รศ.ดร.ชิต ได้กล่าวถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไทยว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า ประมาณ 85% ของอุตสาหกรรม หากผู้ประกอบการไม่ใช้ระบบอัตโนมัติจะประสบปัญหาในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าราคาขายของผู้ผลิตรายอื่น และในที่สุดจะส่งผลถึงขึ้นไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

“จากการสำรวจกว่า 500 บริษัท จากกว่า 3 แสนโรงงาน ซึ่งประเภทที่สำรวจ ได้แก่ ประเภทที่ใช้แรงงานอย่างเดียว ประเภทต่อมามีเครื่องจักร ประเภทที่สามมีคอนเวเยอร์ระหว่างเครื่องจักร ประเภทสี่เริ่มใช้หุ่นยนต์ ประเภทที่ 5 แทบจะไม่มีแรงงานคนเป็น Fully Automate ออโตเมชัน มีแรงงานเหลือเพียง 1% ทั้งหมดนี้เราพบว่า 85% ซึ่งหากไม่เปลี่ยนแปลงหรือหันมาใช้ระบบอัตโนมัติภายในระยะเวลา 3 ปีจะได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้น คือ 47% เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่”

รองศาสตราจารย์ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รองศาสตราจารย์ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ความพร้อมด้านการผลิตหุ่นยนต์ในประเทศไทย

รศ.ดร.ชิต ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับความพร้อมในการผลิตหุ่นยนต์ว่า หากไทยเริ่มต้นจากการผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์และสร้างหุ่นยนต์ดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมนัก เพราะต้องยอมรับว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศเทคโนโลยี ไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ แต่ไทยมีความสามารถและเชี่ยวชาญในการออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์มีฝีมือใกล้เคียงกับต่างประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการด้าน SI (System Integrators) ที่ทำหน้าที่ออกแบบและติดตั้งระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ระบบอัตโนมัติในขณะนี้ เพราะมี Demand ค่อนข้างสูง

“ลักษณะการพัฒนาคลัสเตอร์หุ่นยนต์มีความแตกต่างจากคลัสเตอร์อื่น เนื่องจากคลัสเตอร์หุ่นยนต์มุ่งไปที่ Demand ซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน จากการคำนวณตัวเลขพบว่าหากมี Demand ปีละแสนกว่าล้าน ถ้าสามารถใช้ SI ของไทยในการออกแบบและติดตั้งจะทำให้มีเงินไหลกลับมาที่ประเทศไทยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท หากผลักดันตรงนี้อย่างจริงจังมั่นใจอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างแน่นอน แต่ถ้าทำผิดทางด้วยการเริ่มจากชิ้นส่วนหุ่นยนต์ก่อนจะทำให้ไปถึงเป้าหมายช้ามาก เพราะเราไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น ทั้งนี้ เราอาจจะต้องลองมามอง SI เพราะแม้ว่าจะยังไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ แต่เราสามารถเลือกออกแบบระบบอัตโนมัติโดยการใช้หุ่นยนต์ได้ และอย่างน้อยยังสามารถประหยัดเงินลดการนำเข้าจากต่างประเทศ”

เร่งสร้าง Demand ปั้น Hub หุ่นยนต์

รศ.ดร.ชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยวางเป้าจะเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน แต่การจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนและประกอบหุ่นยนต์เพื่อขายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น จำเป็นจะต้องสร้าง Demand ขึ้นในประเทศให้ได้ก่อน เพราะถ้าการใช้หุ่นยนต์เกิดในประเทศมากขึ้น ส่วนของผู้ผลิตจะเข้ามาลงทุนในประเทศแน่นอน

“แม้ว่าทางด้านเทคโนโลยีเราอาจจะยังสู้สิงคโปร์ไม่ได้ แต่ในแง่ Demand นักลงทุนต่างชาติกำลังให้ความสนใจประเทศไทย นี่จึงเป็นหอกข้างแคร่ว่าถ้าเราทำไม่ทัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็จะมากวาดสัดส่วนของไทยไปหมด เพราะประเทศเหล่านั้นพัฒนาเทคโนโลยีตลอด แต่สงครามของการปรับปรุงอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่ไทย”

“ตอนนี้หุ่นยนต์ในประเทศไทยมีจำนวน 30,000 – 40,000 ตัว แต่ด้วยการใช้งานหุ่นยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าต่อไปประเทศไทยติดอันดับของความต้องการใช้งานหุ่นยนต์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะนี้ประเทศจีนมีความต้องการมากที่สุด แต่จำนวนประชากรหุ่นยนต์มากที่สุดยังคงเป็นญี่ปุ่นจำนวน 70 กว่าล้านตัว แต่ต่อไป Demand ของไทยขึ้นหลักแสนได้ง่ายมาก เพราะตอนนี้ไม่ว่าอุตสาหกรรมใดก็ต้องการใช้หุ่นยนต์ในการเพิ่ม Productivity อาทิ การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ หรือโลจิสติกส์ ดังนั้น ถ้าไทยเร่งสร้าง Demand ขึ้นในประเทศ เมื่อการใช้หุ่นยนต์มีมากขึ้น นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในประเทศแน่นอน หากทำได้ไทยมีโอกาสที่จะเป็นฮับด้านการใช้งานระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน”

ท้ายที่สุดแล้ว หากไทยไม่เริ่มสร้างรากฐานที่ดีไว้ตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้นำไปต่อยอดได้ลำบาก แต่ถ้าหากพื้นฐานดีส่งเสริมกันก็จะทำให้คนรุ่นต่อไปสามารถนำไป Take Off ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการด้าน SI (System Integrators) และเร่งสร้าง Demand ขึ้นในประเทศให้ได้ก่อน แล้วจากนั้นนักลงทุนหรือผู้ผลิตหุ่นยนต์จะหันมาสร้างโรงงานในประเทศไทย เมื่อถึงตอนนั้นความฝันที่จะเป็นฮับหรือศูนย์กลางของการผลิตชิ้นส่วนและประกอบหุ่นยนต์คงไม่ไกลเกินเอื้อม

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
MMThailand
"This is example bio for author can be change at user profile in wordpress" --TEST