เกาะติด 7 เทรนด์ การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม 2019

Date Post
26.03.2019
Post Views

สัญญาณหมดเวลาปี 2018 ขยับเข้ามาใกล้ ปี 2019 ที่กำลังมาถึงถือเป็นปีแห่งความท้าทายและการแข่งขันที่เข้มข้นในหลากหลายมิติสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในตลาดอุตสาหกรรม การเตรียมพร้อมและเปิดรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นจะเป็นกุญแจสำหรับการแข่งขันภายใต้โลกอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง

เทรนด์ของดิจิทัลยังคงมีส่วนสำคัญในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปี 2019 ซึ่งยึดโยงกับ Industry 4.0 ที่เป็นมากกว่าเทรนด์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ IoT ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อภาพรวมของเครือข่ายและอุปกรณ์อัจฉริยะในปัจจุบันที่เข้ามามีส่วนธุรกิจและชีวิตประจำวันอย่างหลากหลาย ในขวบปีที่กำลังมาถึงความเข้มข้นของการแข่งขันที่เกิดจากเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ SEA ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งด้านภาษีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีความได้เปรียบทางภูมิภาครวมถึงประสบการณ์ด้านงานอุตสาหกรรมที่ยาวนาน เทรนด์ที่เกิดขึ้นในขวบปีที่กำลังมาถึงนั้นอาจไม่เป็นปัญหาสำหรับธุรกิจหรือโรงงานขนาดใหญ่แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเทรนด์เหล่านี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้านในเวลาเดียวกัน คือ เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว ซึ่ง 7 เทรนด์สำคัญที่น่าจับตามอง ได้แก่

Smart/Intelligent Production

การก้าวสู่ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะที่สามารถสื่อสารกันเองได้ (M2M) และการตรวจจับข้อมูลที่ครบถ้วน กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการในการทำงานของอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้าง LEAN ผ่านการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาความสูญเสีย ซึ่งการปรับเปลี่ยนทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งระบบ ในอีกกรณีหนึ่ง คือ การติดตั้งชิ้นส่วนสำหรับการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นให้กับเครื่องจักรดั้งเดิม เพื่อทำให้เกิดการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของ Industry 4.0 โดยกลุ่มเซนเซอร์อุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของระบบอัตโนมัติมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2018 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023 อัตราเติบโต CAGR อยู่ที่ 6.16% สำหรับตลาดระบบอัตโนมัติในโรงงานคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 ซึ่งในปี 2017 มีมูลค่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราเติบ CAGR ตั้งแต่ปี 2018 – 2025 คิดเป็น 8.8%

Cloud การทำงานผ่านระบบเครือข่าย

โรงงานที่มีศักยภาพสูง ซึ่งมีตำแหน่งที่ตั้งโรงงานหลายแห่ง เริ่มให้ความสำคัญกับการทำงาน และแบ่งปันข้อมูลระหว่างโรงงานในแต่ละแห่งมากขึ้น ซึ่งในปี 2019 ที่กำลังมาถึงนั้น Cloud-Based Manufacturing Execution Systems (MES) หรือระบบการจัดการผลิตที่มีพื้นฐานบน Cloud มีความสำคัญเพิ่มขึ้น เป็นผลจากศักยภาพที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ช่วยลดต้นทุนทั้งเงินและเวลาในการดำเนินการ การทำงานร่วมกับเครื่องมืออัจฉริยะและซอฟท์แวร์ สำหรับระบบการจัดการฐานข้อมูลออนไลน์จะช่วยเก็บ ติดตาม รวมถึงนำเสนอข้อมูล ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่บนโลก เพียงแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ท ก็สามารถทำงานได้แบบ Real-Time ไม่ว่าจะวางแผนหรือแก้ไขปัญหา ก็สามารถจัดการได้ทันที นอกจากนี้ยังลดค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนซื้อ การซ่อมบำรุงต่าง ๆ การใช้งาน Cloud นั้นเกี่ยวข้องกับการใช้งาน IoT ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของปรากฏการณ์เครือข่ายในปัจจุบัน การใช้งาน Cloud ร่วมกับ IoT นั้นสามารถสนับสนุนให้เกิดการสื่อสารสองทาง ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมูลค่าการใช้งานเทคโนโลยี Cloud ทั่วโลกอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน้อยที่สุดจากการจัดอันดับ 5 กลุ่มของ IDC ได้แก่ การเงิน สุขภาพ อุตสาหกรรม กิจการสาธารณะ การค้าขาย แต่ในขณะเดียวกันอัตราเติบโตในปี 2019 ถือว่าสูงที่สุด คือ 26.3% 

Blockchain ความปลอดภัยและโครงสร้างการเงินแบบใหม่

ในการใช้งาน Blockchain ผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าจุดเด่นของ Blockchain ไม่เหมาะสมกับสายการผลิต แต่จุดเด่นในการใช้งานหลักจะเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ด้านการเงินของธุรกิจอุตสาหกรรมมากกว่า ด้วยความสามารถในการเข้ารหัสที่สร้างความปลอดภัยขั้นสูง ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการส่งหรือรับเอกสารทางการเงินจากซัพพลายเออร์ ลูกค้า หรือพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งสร้างความไว้วางใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ โดยไม่ต้องลงทุนสำหรับความปลอดภัย ในด้านการเงินยุคดิจิทัลเป็นจำนวนมากด้วยตัวเอง แม้ในปัจจุบันมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลจะลดลงอย่างมาก แตกต่างกับช่วงต้นปี 2018 แต่ความสามารถในการเข้าและถอดรหัสนั้นยังคงอยู่ในระดับท็อปของเทคโนโลยีด้านการเงินในปัจจุบัน การเข้ามาของ Blockchain จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจและการเงินซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากโครงสร้างระบบการเงินในปัจจุบัน และแม้ว่าการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้จะเกี่ยวข้องกับการเงินเป็นหลักแต่จากรายงานของ PWC พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตนั้นมีการใช้งานมากเป็นอันดับสองรองจากการเงินด้วยสัดส่วน 12% เทียบเท่ากับกิจการพลังงาน ในขณะที่การเงินมีสัดส่วนอยู่ที่ 46% คาดการณ์มูลค่าตลาดปี 2018 อยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าตลาด 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023 คิดเป็นอัตราเติบโต CAGR กว่า 80.2%

Simulation AR/VR การจำลองเพื่อลดช่องว่างและความเสี่ยง

จากการสำรวจกลุ่มผู้บริหารของ Rockwell Automation พบว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการเป็นปัญหาสำคัญที่มีสัดส่วนความคิดเห็นสูงถึง 22% การนำเทคโนโลยีเสมือนจริงกลุ่ม Reality ไม่ว่าจะเป็น VR (Virtual reality), AR (Augmented reality) หรือ MR (Mixed Reality) สามารถนำมาใช้ในการฝึกฝนทักษะการทำงานของแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนการทำงานแบบ Real-Time เช่น การถอดประกอบหรือให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับงานซ่อมบำรุง สามารถจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพลดต้นทุนด้านการปฏิบัติการณ์กว่า 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในอุตสาหกรรมน้ำมัน  นอกจากนี้ระบบจำลองต่าง ๆ สามารถช่วยในการออกแบบ วางแผน รวมถึงบริหารจัดการสายการผลิตได้ เช่น Digital Twin ที่จำลองการทำงานของระบบแบบ Real-Time เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระบบล่วงหน้า ลดความเสี่ยงของการหยุดสายการผลิต และสามารถวางแผนการผลิตได้ตลอดเวลา ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยี AR/VR นั้นคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้น 68.8% จากปี 2018 ซึ่งมีตลาดผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญในขณะที่อุตสาหกรรมมีมูลค่าราว 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ Digital Twin พบว่ามีอัตราการเติบโต CAGR กว่า 33% ภายในปี 2021 โดยมีอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

การจับมือของเทคโนโลยี IT และ OT

ในปีที่ผ่านมาการให้ความสำคัญของการทำระบบ Hybrid ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง Information Technology และ Operation Technology ถูกหยิบยกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาความเสี่ยงของความล้มเหลวจากระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการถูกโจมตีจากภายนอก หรือปัญหาการใช้งานที่เกิดขึ้นภายในจากการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ หรือการตั้งค่าที่ผิดพลาดเป็นต้น ซึ่งปี 2018 นี้มูลค่าความเสี่ยงของการถูกโจมตีจากโลกไซเบอร์หรือความเสี่ยงการ IT มีมูลค่าสูงถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของการพึ่งพาระบบ IT หากผสานทั้งการทำงานของ IT และ OT เข้าด้วยกันระบบทั้งสองสามารถสนับสนุนการทำงานร่วมกันด้วยจุดเด่นของแต่ละระบบ ทั้งงยังสามารถเป็นระบบสำรองเพื่อทำการเก็บข้อมูลหรือทำงานทดแทนกันได้ในยามที่ระบบใดระบบหนึ่งเกิดล้มเหลว

รับมือกับความผันผวนของกิจการอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี

ความไม่แน่นอนในงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดผู้บริโภค การขาดแคลนแรงงานทักษะและการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุ ความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัว หรือความสามารถในการปรับแต่งได้ (Customization) มากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตต่อครั้งมีความต้องการน้อยลงในบางกลุ่มสินค้า นับได้ว่าความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อความสามารถในการผลิตโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก การลงทุนเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้ยากในสมัยก่อน แต่การเข้ามาของระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่มีราคาถูกลง ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการประยุกต์การทำงานของแรงงานร่วมกับเทคโนโลยี เช่น การใช้งาน Cobot เพื่อช่วยในการผลิตทดแทนทักษะที่ขาดหายไป หรือการใช้บริการ Cloud เพื่อทดแทนการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์บางส่วนเป็นต้น ซึ่งการใช้งานเทคโนโลยีโดยเบื้องต้นจากกรณีศึกษาของ Rockline Industries การใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในหน่วยการผลิตสามารถเพิ่ม OEE ได้มากกว่า 20% ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทักษะที่จำเป็ฯต่อการผลิตสินค้าที่หลากหลายหรือมีคุณสมบัติแตกต่างกันได้

พัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อนำหน้าการผลิตในอนาคต

การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะรวมถึงการปลดเกษียณขอบุคคลากรยุค Baby Boomer ซึ่งเป็นแรงงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดสภาวะการขาดแคลนแรงงานขึ้นทั่วโลก คาดว่าในปี 2025 บุคคลากรด้านอุตสาหกรรมจะขาดแคลนไม่น้อยกว่า 2 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ด้วยรูปแบบการผลิตและการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ทำให้ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านเทคโนโลยีเพิ่มความสำคัญขึ้นมาอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในทักษะพื้นฐานที่สำคัญของแรงงานประเทศไทย คือ ภาษาต่างประเทศ อันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับทักษะที่จำเป็นต่อการผลิตภายใต้สภาพแวดล้อมของ Industry 4.0 หรือ Smart Factory การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ข้อมูลกลายเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการแข่งขันด้านศักยภาพแรงงาน เนื่องจากความเข้าใจในค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนและมีจำนวนมหาศาล การคัดเลือกข้อมูลที่มีความสำคัญอาจไม่ต่างจากการนั่งคัดคุณภาพเมล็ดข้าวในโรงนา ที่ต้องมีความชำนาญและเข้าใจในธรรมชาติของเนื้องานที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าแรงดันไฟฟ้าสำหรับเครื่อง CNC หรือระดับความร้อนของการหลอมโลหะซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานและความผิดปรกติในการผลิต ดังนั้น ทักษะด้านความรู้เฉพาะด้านและการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางยุคที่ต้องทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ

หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลง ในปี 2019 ที่จะเกิดขึ้นนั้น ให้ความสำคัญกับทักษะของแรงงานในการรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความสามารถดังกล่าวจะเป็นสิ่งสำคัญในการตอบรับโอกาสที่เข้ามา สำหรับการผลิตที่กำลังเกิดขึ้น แม้จะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องจักร หรือระบบที่มีมูลค่าสูง แต่การบริหารจัดการและการซ่อมบำรุง ยังจำเป็นต้องใช้ทักษะแรงงานเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตที่ตอบสนองต่อผู้บริโภค เปรียบเสมือนการส่งต่อคุณค่าให้กับมนุษย์ ความเข้าใจในคุณค่าที่จะเกิดกับมนุษย์นั้น จึงต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง:

Manufacturing.net/blog/2018/12/manufacturing-trend-predictions-2019

Cloudblogs.microsoft.com/industry-blog/industry/manufacturing/the-6-trends-that-will-define-intelligent-manufacturing-in-2019/

Medium.com/small-business-big-world/2019-manufacturing-trends-you-should-invest-in-now-98757760b615

Marketsandmarkets.com/Market-Reports/industrial-sensor-market-108042398.html

Openpr.com/news/1453912/Factory-Automation-Industrial-Controls-Market-Brief-Analysis-on-Top-Key-Players-BB-Ltd-Mitsubishi-Electric-Factory-Automation-Siemens-AG-Honeywell-International-Incorporation-Emerson-Electric-Corporation-Schneider-Electric-SA-Omron-Corporation-R.html

Idc.com/getdoc.jsp?containerId=prUS44551518

Pwc.com/gx/en/issues/blockchain/blockchain-in-business.html

Marketsandmarkets.com/Market-Reports/blockchain-technology-market-90100890.html

Idc.com/getdoc.jsp?containerId=prUS44511118

Technavio.com/report/global-digital-twin-market

Xprimm.com/2018-Global-Risk-Index-all-threats-are-increasing%3B-Nat-Cat-among-the-Top-3-classes-of-threats-articol-117,149-12520.htm

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire