“กกพ.” ประกาศเดินหน้าพัฒนากลไกการกำกับรองรับการใช้พลังงานหมุนเวียน หวังลดพึ่งพาก๊าซธรรมชาติต้นเหตุทำค่าไฟแพง และเตรียมประกาศ “ค่าไฟสีเขียว” ติดอาวุธผู้ประกอบการเอกชนในเวทีการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวทางการกำกับกิจการของ กกพ. ในระยะต่อไป จะมุ่งสร้างกลไกเพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติที่อาจมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการแข่งขันในขณะที่ยังคงต้องรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียวในราคาที่ยอมรับได้ ติดอาวุธผู้ประกอบการเอกชนในเวทีการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ
บางจาก ประกาศซื้อกิจการ “เอสโซ่” ประเทศไทยมูลค่า 55,500 ล้าน | FactoryNews ep.42/5
ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และในพม่าเป็นหลักและมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเป็นส่วนน้อย ความไม่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสัมปทานก๊าซในอ่าวไทย และวิกฤตราคาพลังงานในตลาดโลก เป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องนำไปปรับปรุงแนวทางกำกับการผลิตก๊าซในอ่าวไทย และการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อจูงใจให้ตลาดมีการแข่งขันลดการผูกขาด
ในกรณีที่ยังต้องมีการนำเข้าแอลเอ็นจีจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ในระยะเร่งด่วนนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ เช่น น้ำมัน พลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียน เพื่อมาทดแทนการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงในระยะสั้น
แต่ระยะต่อมาคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้พลังงานสีเขียวตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจการค้า และการลงทุนของภาคเอกชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนอื่นๆ หนึ่งในกลไกสำคัญได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (Rec) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและยุ่งยากกับกระบวนการออกใบรับรอง
ปัจจุบัน Green Tariff ได้รับความนิยม และมีให้ใช้แล้วในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยที่มีโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Regulated Market นั้น กกพ. จึงมี แนวคิดที่จะนำไฟฟ้าทีผลิตได้จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ใน REC มาเป็นองประกอบหลักของ Green Tariff และจะยังมีการขยายผลให้รวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ในอนาคตที่จะมีการผลิตเพิ่มเติมตามแผน PDP และการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ใน REC ให้มารวมอยู่ใน Green Tariff
ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างเตรียมหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถกำหนด อัตรา Green Tariff ได้อย่างเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียว และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ
ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกระบวนการผลิตและใช้พลังงานประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้นเข้าสู่ระบบไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 10% ให้มีเพิ่มขึ้นผ่านกระบวนการรับซื้อตามแผน PDP ซึ้งก็มีหลายโครงการที่ผ่านกระบวนการรับซื้อแล้วในอดีตแต่โครงการก็ยังไม่สามารถเดินเครื่อง
เชิงพาณิชย์ได้ในหลายๆ โครงการ เช่น โครงการ SPP Hybrid จึงจำเป็นต้องปรับแนวทางการคัดเลือกเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการที่จะได้มาซึ่งพลังงานสีเขียวเข้าสู่ระบบมากขึ้น และให้มีพลังงานสีเขียวเพียงพอกับความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองโดย กกพ. ร่วมกับสามการไฟฟ้า เร่งรัดกระบวนการและขั้นตอนการอนุญาตและการเชื่อมต่อระบบให้สามารถดำเนินการ COD หรือเชื่อมต่อระบบได้ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับแจ้งการก่อสร้างแล้วเสร็จการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า จึงมีความจำเป็นจะต้องมีการวางแผน PDP ให้มีความสอดคล้อง โดยให้มีกำลังการผลิตหลักและการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในส่วนที่เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่มีความสมดุล เหมาะสม และไม่กระทบต่อความมั่นคงและราคาพลังงานมากเกินไปหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้
นายคมกฤช กล่าวว่า ปัจจุบัน กกพ. ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการกำกับและการคิดราคาพลังงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับโครงสร้างกิจการพลังงาน ปรับปรุงโครงสร้างการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ และการคิดราคาไฟฟ้าให้มีการแยกส่วน (Unbundling) ให้มีความยืดหยุ่นต่อโครงสร้างกิจการพลังงานที่อาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการอนุมัติอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและการตรวจติดตามผ่านระบบ online ยกระดับการอนุมัติการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการกระจายอำนาจและให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ปรับปรุงกระบวนการภายในให้มีการใช้ระบบ Digital มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อด้านต่างๆผ่านระบบ Online ระบบมือถือ และการติดต่อสื่อสารผ่าน Platform ต่างที่จะมีขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อนำการกำกับกิจการพลังงานเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงพร้อมรองรับ Energy Transition ที่จะมีขึ้นในอนาคต