กนอ. - กรมชลฯ แก้วิกฤตแล้งภาคตะวันออก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย – กรมชลประทาน แก้วิกฤตแล้งภาคตะวันออก

Date Post
05.05.2020
Post Views

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือกรมชลประทาน เร่งผลักดันโครงการวางท่อสูบน้ำคลองสะพาน เพิ่มปริมาณเก็บน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมวางแผนระยะยาวผลักดันสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนดหวังเพิ่มน้ำได้ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

กนอ. - กรมชลฯ แก้วิกฤตแล้งภาคตะวันออก

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง“วิกฤตสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก” ร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากตัวเลขน้ำสำรองในปัจจุบันมั่นใจว่าสามารถมีใช้ไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ และจะผ่านภาวะวิกฤติในครั้งนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังคงมีความเป็นห่วงปัญหาในช่วงหลังเดือนมิถุนายนนี้ และในระยะยาวในปีต่อๆไป จึงได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งการผลักดันโครงการวางท่อสูบน้ำจากคลองสะพาน จ.ระยอง เพื่อวางท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ 1,800 มิลลิเมตร ซึ่งจะสามารถดึงน้ำเข้ามาเก็บที่อ่างเก็บน้ำประแสร์เพิ่มถึง 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากปัจจุบันที่ได้วางท่อสูบน้ำชั่วคราว ขนาด 900 มิลลิเมตร สูบน้ำได้ประมาณ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ขณะที่มาตรการขอความร่วมมือให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ลดการใช้น้ำลง 10% ในปีนี้ ทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายแต่หากเกิดภัยแล้งในปีหน้าขึ้นอีกก็จะเป็นการยากที่จะลดการใช้น้ำลง 10% ได้ตามเป้า เนื่องจากเกิดการขยายโรงงาน และการลงทุนโรงงานใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม

“ที่ผ่านมา กนอ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งมาโดยตลอด ทั้งการเพิ่มนํ้าต้นทุนให้กับ 4 อ่างเก็บน้ำหลัก ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ ได้แก่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด ลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรไปเพิ่มน้ำต้นทุนยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง สร้างระบบสูบกลับชั่วคราวจากคลองสะพาน  ปรับปรุงระบบสูบกลับวัดละหารไร่จากแม่นํ้าระยองไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  รวมทั้งการเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมาผ่านการบำบัด (Waste Water Reverse Osmosis : WWRO) และนำกลับมาใช้ใหม่

รวมถึงการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ปรับลดปริมาณการใช้น้ำลง 10 % แต่ขณะเดียวกันในปีนี้น้ำในภาคตะวันออกมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีน้ำไหลลงอ่างลดลงจากเดิมเนื่องจากฝนที่ตกไม่เข้าอ่างเก็บน้ำ ทำให้เรื่องน้ำเป็นปัญหาที่สำคัญจะต้องมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าในปี 2563-2565 จะมีการตั้งโรงงานเพิ่มประมาณ 2 เท่าตัว และหากมีน้ำไม่เพียงพอก็อาจกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ ขณะที่ความคืบหน้าของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ก่อสร้างเสร็จจะสามารถแบ่งปันน้ำเข้าสู่พื้นที่อีอีซีได้ประมาณ 100 – 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง  โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2563 ที่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว กนอ.ได้มีการปรับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของกนอ.ลงเหลือประมาณ 2,000-2,500ไร่ ต่อปี จากเดิมที่ตั้งเป้า ประมาณ 3,000-3,500 ไร่ต่อปี นอกจากนี้ กนอ.เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่อคณะกรรมการ กนอ.ให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

“หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จบลง กนอ.เตรียมปรับแผนเชิงรุกมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุน  โดยเฉพาะแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ประกอบด้วย  3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Taiwan-Excellent