กบง. เคาะมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 3 เดือน ทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ และ ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพ ของประชาชน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid -19 สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย- ยูเครน ส่งผลต่อเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงทั่วโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน (พน.) ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องนั้น
โดยที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน รวมถึงการทบทวนกำหนดราคา LPG และ NGV เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2565 โดยให้คงสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ร้อยละ 5 (บี5) และขอความร่วมผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน จะติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปาล์มน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปาล์ม ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
[Factory News Live!] WeeklyReport | FactoryNews ep.24 / 02 Sep 2022
เห็นชอบให้ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ในเดือนตุลาคม ที่ราคา 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 1 เดือน (1-31 ตุลาคม 2565) และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน จัดทำแนวทางการช่วยเหลือ มุ่งเป้า LPG ภาคครัวเรือน เพื่อลดผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน
นายสุพัฒนพงษ์ ได้ชี้แจงในส่วนของสถานการณ์ราคา NGV ว่า ที่ผ่านมา กบง. ได้มีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงมาโดยตลอด ส่งผลให้ปัจจุบัน ปตท. มีภาระการช่วยเหลือราคา NGV (ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 15 กันยายน 2565) รวม 6,757 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนราคา NGV ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าต้นทุนราคาก๊าซ NGV ในช่วงปลายปี 2565 อาจปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในช่วง 29 ถึง 34 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ภาครัฐยังคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการในธุรกิจ NGV
ดังนั้น เพื่อลดการบิดเบือนราคาพลังงานและให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง กบง. จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม จาก 15.59 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 16.59 บาทต่อกิโลกรัม โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ให้ สนพ.ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิดหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญให้นำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาการกำหนดราคา NGV ที่เหมาะสมในระยะต่อไป และให้คงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถแท๊กซี่ในโครงการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันของ ปตท. โดยให้สามารถซื้อก๊าซ NGV ได้ในราคาเดิมที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2565
- กบง. เห็นชอบ ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า – ราคาก๊าซหุงต้ม ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- กบง. เคาะสัดส่วน บี100 จากไบโอดีเซลบี7 เหลือบี 5
- กบง. ไฟเขียวตรึงราคา LPG อีก 3 เดือน
- กบง. สั่งปรับสเปค บี 7 ชนิดเดียว คุมค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
ที่ประชุม กบง. ได้มีการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซล และ เอทานอล) โดยได้มีมติเห็นชอบ (1) หลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลอ้างอิง ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคาอ้างอิงจากต้นทุนการผลิต (Revised Cost Plus) โดยลดวัตถุดิบเหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และสเตียรีน (ST) และ ปรับอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ที่ 5% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป (2) ยังคงหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเอทานอลอ้างอิง ตามการคำนวณราคาอ้างอิงราคาตลาด (Market Price) โดยใช้ราคาจากการเปรียบเทียบราคาต่ำสุดระหว่างเอทานอลเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ผู้ผลิตรายงานต่อกรมสรรพสามิต กับราคาเอทานอลเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 รายงานต่อ สนพ. โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กบง. ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนประมาณการงบประมาณตามแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ) เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565