กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผนึกกำลังผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จากผลกระทบสถานการณ์โควิด 19
ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยนั้น ทำให้ภาครัฐและเอกชนร่วมผนึกกำลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้ได้มากที่สุด โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ประกอบการ ด้านปิโตรเลียมในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังคงให้ความร่วมมือ ในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติดังกล่าว โดยการสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างคนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ประชาชน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ขอความร่วมมือจากผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต และผู้รับจ้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้างเหมาโดยตรงกับผู้รับสัมปทานหรือผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในการพิจารณาให้การสนับสนุนใช้บริการด้านยานพาหนะ การก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากผู้รับจ้างหรือวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการจ้างงานคนไทย ในอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาโดยตลอด โดยในปัจจุบันบริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม มีการจ้างพนักงานคนไทยในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 90 และในช่วงวิกฤติโควิด 19 นี้ บริษัทต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือในการลดอัตราการเลิกจ้างงานพนักงานคนไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการว่างงาน
นอกจากนี้ ในการดำเนินการของแปลงสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช ซึ่งจะสิ้นอายุในปี 2565 และจะมีการเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการจากระบบสัมปทาน เป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการจ้างพนักงานคนไทยเช่นกัน โดยมีข้อกำหนดในสัญญาแบ่งปันผลผลิตให้ผู้รับสัญญาต้องจ้างพนักงานไทยในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 นับว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในการส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนไทยอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม