กรมธุรกิจพลังงาน เผย สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 3 เดือนแรกปี 2563 ลดลง เว้น แก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 6.5 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึง ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 3 เดือนแรก(มกราคม – มีนาคม) ปี 2563 ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.5 โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน ลดลงร้อยละ 2.3 กลุ่มดีเซล ลดลงร้อยละ 2.9 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 17.4 น้ำมันเตา ลดลงร้อยละ 29.9 น้ำมันก๊าด ลดลงร้อยละ 2.5 LPG ลดลงร้อยละ 11.7 และ NGV ลดลงร้อยละ 17.0
ทั้งนี้ สาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 จึงทำให้ประเทศไทยต้องประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยมีมาตรการ Lock down จึงส่งผลให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วในช่วงปลายปี 2562 ยิ่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 31.1 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 2.3 โดยกลุ่มแก๊สโซฮอล์มีปริมาณการใช้ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 30.3 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นร้อยละ 1.6 ขณะที่น้ำมันเบนซิน มีการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 21.8
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ พบว่า แก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 6.5 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เนื่องจากมีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.01 บาท/ลิตร รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 14.0 ล้านลิตร/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 มีราคาใกล้เคียงกันโดยมีส่วนต่างเพียง 0.27 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้น้ำมันชนิดที่มีค่าออกเทนสูงกว่า
ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 91 มีปริมาณการใช้ลดลง 8.7 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 9.7 และ แก๊สโซฮอล์ อี85 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 11.4
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.9 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี7 ปริมาณการใช้ลดลง 51.5 ล้านลิตร/วัน หรือลดลงร้อยละ 22.2 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.7 ล้านลิตร/วัน (เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561) โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วดังกล่าว อยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 17.7 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน ร้อยละ 17.4 เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมากอีกทั้งหลายสายการบินประกาศหยุดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.2563 เป็นต้นไป เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้ออไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลให้ความต้องการใช้ลดลงอย่างมาก
การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่16.0 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยปริมาณการใช้ภาคขนส่งลดลงมากที่สุด มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.4 ล้านกก./วัน หรือลดลงร้อยละ 18.8 รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.0 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 17.9 ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8
ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 3.1 และภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดอยู่ที่ 5.7 ล้านกก./วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 3.0
การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.8 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 17.0 เนื่องจากนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนและรถโดยสารหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็วบี 20 ทดแทน
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 928,923 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 6.5 คิดเป็นมูลค่า 55,062 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเวลาการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทำให้ต้องลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ากลั่นลง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงอยู่ที่ 33,901บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 57.6 คิดเป็นมูลค่า 1,978 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและก๊าด และ LPG โดยมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 180,601 บาร์เรล/วัน คิดเป็นร้อยละ 0.6 คิดเป็นมูลค่า 10,373 ล้านบาท/เดือน