การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 6 เดือน ลดลง ร้อยละ 1.7

Date Post
03.08.2021
Post Views

กรมธุรกิจพลังงาน เผย สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 6 เดือนของปี 2564 ลดลง ร้อยละ 1.7 โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ที่ลดลง

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 6  เดือนของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) ลดลงเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.7 โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่ลดลงร้อยละ 53.9 สำหรับการใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 1.1 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 น้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และ NGV ลดลงร้อยละ 18.6 

คุณภาพของสินค้าใช้ “ตาเปล่า” ตรวจสอบไม่ได้ ใช้ Machine Vision ที่มี AI ตรวจสอบดีกว่า [Super Source]

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.7 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนเล็กน้อย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2) โดยปริมาณดังกล่าวเป็นระดับที่ต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ พบว่าปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.0 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5) โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ที่เพิ่มขึ้นจาก 13.9 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 15.2 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่การใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 11.4) 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนมิถุนายน 2564 พบว่าการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.2 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 26.1 ล้านลิตร/วัน) (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2) โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของทุกชนิดน้ำมัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ประกอบกับประชาชนบางส่วนได้รับวัคซีน โดยตัวเลขการฉีดวัคซีนสะสมเข็มที่ 1 มีจำนวน 7.1 ล้านราย และเข็มที่ 2 มีจำนวน 2.8 ล้านราย (สะสม 8 กุมภาพันธ์ ถึง 30 มิถุนายน 2564) นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 (ก่อน 28 มิถุนายน 2564) ยังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 64.9 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย (ลดลงร้อยละ 1.1) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 38.1 ล้านลิตร/วัน (ลดลง

ร้อยละ 18.4) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.5 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉพาะเดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับมิถุนายน 2563 พบว่า ปริมาณการใช้ลดลงค่อนข้างมากจาก 62.7 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 59.3 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในปีนี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  (ลดลง ร้อยละ 53.9) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทางโดยเครื่องบิน  ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.5 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.3 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.8) และการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.9 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.0) สำหรับภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.6 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.7) อย่างไรก็ตามการใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.8 ล้านกก./วัน (ลดลงร้อยละ 12.6) 

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 18.6) โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 917,634 บาร์เรล/วัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 0.7) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 880,203 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 1.5) 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52,733 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.0) เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 37,431 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.8) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 2,239 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.0) 

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล  น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 182,487 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 10.4) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 11,641 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.9)

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex