ก.อุตฯ ดัน ผ้าทออีสาน รุกตลาดแฟชั่น Gen Z

Date Post
29.03.2021
Post Views

ก.อุตฯ ผลักดัน ผ้าทออีสาน รุกตลาดแฟชั่น Gen Z ผสานเทคโนโลยีเพิ่มคอลลาเจนในเส้นใย ยกระดับสิ่งทอไทย คาดสร้างยอดขายกว่า 10 ล้านบาท

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผ้าทอของไทยถือได้ว่า มีความ  โดดเด่น ประณีต สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และมรดกทางภูมิปัญญา โดยเฉพาะผ้าทอในพื้นที่  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับการขนานนามในด้านคุณภาพ และเสน่ห์ของการถักทอที่สะท้อนผ่านผืนผ้าซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการผ้าทอไทยยังขาดการปรับประยุกต์ ออกแบบ และตัดเย็บ ให้สอดคล้องกับเทรนด์แฟชั่น ร่วมสมัย ผ้าทอไทยในรูปแบบเดิมจึงเป็นสินค้าเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่สามารถสวมใส่ได้ในหลากหลายโอกาส ตลอดจนการผลิตจำกัดอยู่ในระดับวิสาหกิจชุมชนส่งผลให้ผลิตได้ในจำนวนน้อย ขาดการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าทอของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีทั้ง ผ้าไหม ผ้าใยกัญชง ผ้าฝ้าย ซึ่งมีลวดลายการทอที่มีอัตลักษณ์ สามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้  โดยในปี พ.ศ. 2563 ไทยมีตัวเลขการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  มีมูลค่า 5,748.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ  178,121.8 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ กลุ่มประเทศอาเซียน และสหรัฐอเมริกา และคาดการณ์ว่าหากผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยได้รับการพัฒนา ต่อยอดจนสามารถตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ก็จะยิ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น 

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ต่อยอดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม สู่อีสานแฟชั่น เพื่อเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทย สู่ภาคอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 และได้พัฒนาผ้าทอไทยจนเป็นที่รู้จักและ   สร้างการยอมรับจากตลาดคนรุ่นใหม่ภายใต้แบรนด์ “มัดทอใจ” โดยการดำเนินงานในปี 2564 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากมีรูปแบบการทำงานที่มุ่งหวังประสิทธิผลในการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และเน้นให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานได้จริง โดยได้วางพื้นที่เป้าหมายไว้ใน 4 จังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านผ้าทออีสาน ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา สุรินทร์ และสกลนคร ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ ผ่าน 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการทางธุรกิจและนักออกแบบรุ่นใหม่  ในกลุ่มสินค้าผ้าทอและแฟชั่น ให้ได้รับการพัฒนาเชิงลึก มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 280 คน     เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงการออกแบบ โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยี เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแบบใหม่ในกลุ่มตลาดใหม่ได้

กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต (New Heritage Thai Textile & Fashion) : ตั้งเป้าหมายจำนวน 40 ผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบลวดลายผ้าไหมแบบใหม่เชิงสร้างสรรค์บนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการแปรรูปตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทันสมัย เน้นความเป็นไทยแบบเรียบง่ายเป็นสากล และสามารถเพิ่มมูลค่าโดยผสมผสานเทคโนโลยีการใช้เส้นใยพิเศษวัสดุใหม่ (New material fiber) โดยใช้เส้นใยคอลลาเจนนำมาใช้ทอร่วมกับไหม ซึ่งมีคุณสมบัติกักเก็บความชุ่มชื่นให้แก่ ผิวและนุ่มสวมใส่สบาย เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง เป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมเชื่อมโยงการผลิตและขยายฐานการตลาด โดยพัฒนาสินค้าสนองตอบต่อความต้องการของตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง   และตลาดต่างประเทศในระดับบน โดยใช้แนวคิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Global inspiration   cross culture) กับกลุ่มประเทศ ASEAN+3

นางวรวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอสู่อีสานแฟชั่น ในโครงการดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 50 ด้วยการผสานเทคโนโลยีและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น การจำหน่ายลวดลายผ้าไหมมัดหมี่แบบดั้งเดิม ราคา 1,500 – 2,000 บาทต่อเมตร แต่เมื่อผ้าไหมมัดหมี่ที่มีการผ่านการพัฒนาและเพิ่มเติมคุณสมบัติพิเศษ จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาถึง 3,000 – 3,500 บาทต่อเมตร อีกทั้งยังคาดการณ์เป้าหมายจากยอดจำหน่ายจากร้านค้าและผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.80 หรือคิดเป็น 10.85 ล้านบาทต่อปี ตลอดจนยังเป็นโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่จะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในระดับภูมิภาคอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Taiwan-Excellent