ก.อุตสาหกรรม เตรียมออกประกาศ ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวง ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 เมษายน 2566 คาดประกาศใช้ปลายปีนี้
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการออกอนุบัญญัติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ ในส่วนของการควบคุมกระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายให้จัดทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต และห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ. …. เพื่อควบคุม ลด เลิกการใช้และการปลดปล่อยปรอทจากแหล่งกำเนิดตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียจนถึง 30 เมษายน 2566 คาดประกาศใช้ได้ปลายปีนี้ เพื่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก ให้อุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นักวิจัย MIT พิมพ์หัวใจเทียมเพื่อการตรวจสอบก่อนผ่าตัดได้สำเร็จ
นายจุลพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานที่ใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต และห้ามใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดให้มีการควบคุมกระบวนการผลิตที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท จำนวน 5 กระบวนการ ได้แก่ การผลิตคลอร์-แอลคาไล / การผลิตอะซีตัลดีไฮด์ที่ใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา / การผลิตสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ / การผลิตโซเดียมหรือโพแทสเซียมเมทิลเลต หรือเอทิลเลต และการผลิตโพลียูรีเทนในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ปรอทเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา รวมทั้งไม่อนุญาตให้มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทในโรงงานหรือสถานประกอบการใหม่ และไม่ส่งเสริมการพัฒนาสถานประกอบการใด ๆ ที่มีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิตอีกต่อไป ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริงจากฐานข้อมูลวัตถุอันตราย ฐานข้อมูลโรงงานของ กรอ. และรายงานผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ ไม่พบการนำเข้าหรือผลิตปรอทหรือสารประกอบปรอทไปใช้ใน 5 กระบวนการผลิตข้างต้น
“ผมมั่นใจมากว่าภาคอุตสาหกรรมไทยมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการเลิกใช้ปรอทและสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต จึงอยากขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไป แสดงความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ของระบบกลางทางกฎหมาย
https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTc2NURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ หรือเว็บไซต์ กรอ. http://php.diw.go.th/rubfung/show.php ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 เมษายน 2566 ก่อนดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อประกาศใช้ในช่วงปลายปี 2566” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสถานประกอบการโรงงานที่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทใน 5 กระบวนการผลิตที่จะมีการควบคุมดังกล่าว โดยมีการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้แก่
1) ฐานข้อมูลวัตถุอันตรายของ กรอ. ซึ่งไม่พบการนำเข้าหรือผลิตปรอทหรือสารประกอบปรอทไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับ 5 กระบวนการผลิตดังกล่าว
2) ฐานข้อมูลโรงงานของ กรอ. ซึ่งไม่พบรายชื่อสถานประกอบการโรงงานที่มีการใช้ปรอทและสารประกอบปรอทเป็นวัตถุดิบใน 5 กระบวนการดังกล่าว
3) รายงานผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการจัดทำแนวทางและมาตรการจัดการสารปรอทที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย กิจกรรมการจัดทำทำเนียบสารปรอท ปี พ.ศ. 2556 และโครงการการศึกษาความพร้อมของประเทศไทยในการปฏิบัติตามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ไม่พบการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอทในทั้ง 5 กระบวนการผลิต
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการเลิกใช้ปรอทและสารประกอบปรอทในกระบวนการผลิต