จับตา COP 26 การประชุมเพื่อแก้ไขสภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก

Date Post
02.11.2021
Post Views

ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศของโลกกลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร ความเป็นอยู่และการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งนานาประเทศต่างร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อแก้ไขสถานการณ์ โดยการประชุม COP 26 ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ก็ยังเป็นการประชุมเพื่ออัพเดทข้อมูลและสรรหาความตกลงเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งจากประเทศกว่า 100 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม

COP 26 เป็นการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกโดยสหประชาชาติ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพและอิตาลีเป็นพันธมิตร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2564 – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ Scottish Event Campus (SEC) เมือง Glasgow สหราชอาณาจักรเพื่อเพิ่มรายละเอียดและแนวทางดำเนินการด้านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นและลดการปลดปล่อยมลภาวะลง

เป้าหมายที่สำคัญของการประชุม COP 26

1. ลดการปลดปล่อยมลภาวะให้เหลือ 0 ภายในกลางศตวรรษนี้และลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส

เป้าหมายที่ตั้งไว้เบื้องต้นคือการลดการปลดปล่อยพลังงานภายในปี 2030 ซึ่งแต่ละประเทศต้องเร่งลดการใช้ถ่านหิน ลดการตัดไม้ทำลายป่า เพิ่มความเร็วในการเปลี่ยนผ่านสู่ EV และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพลังงานหรือทรัพยากรหมุนเวียน

2. ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมได้เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการลดการปลดปล่อยมลภาวะ ประเทศต่าง ๆ ต้องปกป้องและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สร้างระบบป้องกันและแจ้งเตือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงการเกษตรต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่อยู่และชีวิต

3. รวบรวมทุนทางการเงิน

เพื่อให้สองเป้าหมายแรกนั้นประสบความสำเร็จ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนเงินทุนอย่างต่ำ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีตั้งแต่ปี 2020

4. ทำงานร่วมกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

การเอาชนะปัญหาด้านสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ โดยต้องทำการลงรายละเอียดหาข้อยุติในประเด็นของความตกลงปารีสให้ได้ และเพิ่มความเร็วในการเข้าจัดการกับต้นตอของปัญหาสภาพแวดล้อมด้วยการร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคสังคม

กิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ของโลกต้องยอมรับว่ามนุษย์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปศุสัตว์ กิจกรรมการผลิต กิจกรรมที่เกิดจากการคมนาคม หรือพลังงานและมลภาวะที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านมุมมองของที่ประชุมทั่วโลกจึงมีทั้งนโยบายการลดการปลดปล่อยมลภาวะ การอนุรักษ์ทรัพยากรที่มี และการสนับสนุนด้านเงินทุน ซึ่งเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการทดแทนความต้องการเดิม ด้วยการเพิ่มความคุ้มค่าของการใช้พลังงาน สร้างทางเลือกจากแหล่งทรัพยากรและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม COP 26 คือ ความเห็นของ Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ไฟแรงที่มองว่าการเคลื่อนไหวของเหล่านักการเมืองในที่ประชุมนั้นแค่ ‘แสดงท่าที่เหมือนว่าให้ความสำคัญ’ ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น คำวิจารณ์นี้อาจไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาแนวนโยบายของแต่ละประเทศเปรียบเทียบกับการบังคับใช้ในสถานการณ์จริง

ภายใต้แนวนโยบายสากลและความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับที่มีอันดับการปลดปล่อยมลภาวะสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ทั้งยังมีนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ป่าเดิม เช่น การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการดำเนินการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการดำเนินการจริงตามนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความเร่งด่วนที่ประชากรทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง

ที่มา:
Ukcop26.org/cop26-goals/
bbc.com/news/uk-59121479

เนื้อหาที่น่าสนใจ:
ไทยติดหนึ่งใน 10 ประเทศปัญหาสภาพแวดล้อมและมลพิษยอดแย่
Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Digitech2024