Store Master - Kardex

ญี่ปุ่น มอบเครื่องอบแห้งเทคโนโลยีใหม่ ต่อยอด SME ไทย

Date Post
14.01.2020
Post Views

กสอ.สานความร่วมมือญี่ปุ่น รับมอบเครื่อง Super Sonic Wave Dryer เครื่องอบแห้งอาหารเทคโนโลยีใหม่ หวังต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับเอสเอ็มอี เกษตรอุตสาหกรรม


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่น มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยช่วงเดือนมกราคม – กันยายน ของปี 2562 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่ากว่า 62,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 27 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยปัจจุบันมีนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยจำนวนกว่า 6,000 กิจการ ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน คือ  อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการพัฒนาความร่วมมือ ทั้งกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงาน ต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น รวมกว่า 30 ฉบับ โดยเป็นการลงนาม MOU กับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นมากถึง 21 จังหวัด จากทั้งหมด 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงจังหวัดเอฮิเมะ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน

ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และจากข้อมูลของ World Bank ปี 2020 ระบุว่าประเทศไทยได้รับการปรับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 21 จากทั้งหมด 190 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน

รวมทั้งการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจาก BBB+ เป็นระดับ A- นอกจากนั้น รัฐบาลไทยผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ โครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการเป็นประตูสู่ภูมิภาค CLMV ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการขยายธุรกิจเข้าสู่ภูมิภาคใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรจากจังหวัดเอฮิเมะ ที่ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มอุตสาหกรรมจากจังหวัดเอฮิเมะ ตัดสินใจเลือกมาลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 15 บริษัท โดยลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร อาหารแปรรูป พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งมียอดลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท

“กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่า นักธุรกิจจากจังหวัดเอฮิเมะที่ได้ลงทุนในประเทศไทยแล้ว หรือที่วางแผนจะมาลงทุนจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และหากท่านใดมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และหวังว่าการหารือร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปร่วมกันในอนาคตต่อไป” นายสุริยะ กล่าว

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเอฮิเมะ มีอุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและการแปรรูปอาหาร โดย บริษัท N.S. Corporation ในนามของจังหวัดเอฮิเมะ ซึ่งผลิตและจำหน่ายเครื่องคัดแยกน้ำหนักและเครื่องแปรรูปอาหาร ได้มอบเครื่อง Supersonic Wave Dryer จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 35,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเครื่อง Supersonic Wave Dryer เป็นเครื่องอบแห้งอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยใช้ระบบท่อนำความร้อนของคลื่นถอดแบบจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้รสชาติและเนื้อสัมผัสอาหารคงเดิม โดยจะนำไปติดตั้ง ณ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ภายใต้การดูแลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้ในการส่งเสริม พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับเอสเอ็มอีของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีพืชผลทางการเกษตรที่มีศักยภาพและหลากหลาย

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีศูนย์ ITC 4.0 ตั้งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นกลไกที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบได้ทดลองใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเชื่อว่าการที่กรมได้ร่วมมือกับจังหวัดเอฮิเมะจะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงทางธุรกิจในรูปแบบของ B2B ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการของทั้งสองฝ่ายต่อไป” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์