iscar

นิคมฯ สงขลา พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตุลาคมนี้

Date Post
24.02.2020
Post Views

นิคมฯ สงขลา พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตุลาคมนี้ คาดหากใช้พื้นที่เต็มจำนวนจะดึงเม็ดเงินได้ 13,800 ล้านบาทและเปิดด่านสะเดาแห่งที่ 2 – มอเตอร์เวย์สายใหม่ เชื่อมหาดใหญ่-สะเดา

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดสงขลา (SEZ) ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2562 ว่า การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การก่อสร้างบนพื้นที่ 629 ไร่ แบ่งเป็นเขตประกอบการทั่วไปและเขตพาณิชยกรรม 337 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 292 ไร่ ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 35% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ขณะเดียวกันระหว่างการก่อสร้างหรือพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา มีนักลงทุนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ นักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และกลุ่มนักลงทุนในไทย โดยล่าสุดมีการทำสัญญาจองเช่าที่ดินแล้ว 1 ราย พื้นที่ 15 ไร่ เพื่อประกอบธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์ และสถานีบริการน้ำมัน สำหรับการก่อสร้างระยะที่ 2 พื้นที่ประมาณ 298 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบที่ดินจากกรมธนารักษ์ คาดว่าจะส่งมอบที่ดินให้ กนอ.ได้ภายในเดือนเมษายน 2563

แนวคิดในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสงขลา คือ การเป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกและการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ มีมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 2,890.402 ล้านบาท ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงหมายเลข 4 ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่รวมทั้งหมด 927 ไร่  โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ และใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้ว จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 13,800 ล้านบาท และอัตราการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,400 อัตรา นอกจากนี้ เมื่อมีการลงทุนจัดตั้งนิคมฯแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และการรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยในแง่ของด้านเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่ การจ้างงานของแรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น การสร้างความต้องการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องจากการลงทุน เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ร้านค้า ศูนย์การค้า หอพัก/บ้านเช่า เป็นต้น

การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีเพิ่มขึ้นและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบคมนาคม ไฟฟ้า ประปา โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพของปราชนในพื้นที่ และจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการประกอบอุตสาหกรรมและกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อน / รบกวนชุมชนโดยรอบพื้นที่ นอกจากนี้        นักลงทุนที่ไปลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก กนอ.ในด้านของภาษีอากร เช่น ยกเว้นภาษีอากรขาเข้า ค่าธรรมเนียมพิเศษฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต สำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบ/ยกเว้นภาษีอากรขาออก ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีสรรพสามิต สำหรับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ /ได้รับการยกเว้นหรือคืนภาษีอากรสำหรับเครื่องจักร และวัตถุดิบ  และสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เช่น สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคม อนุญาตให้คนต่างด้าวที่เป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ เข้ามาทำงานในนิคมฯ และอนุญาตให้ครอบครัวและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร และสามารส่งออกเงินตราต่างประเทศได้ 

จังหวัดสงขลา ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนสูง เนื่องจากมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ (Strategic Location) ด้านชายแดนไทย-มาเลเซีย อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ล่าสุดเตรียมเปิดด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 รองรับการค้าชายแดน และตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยได้จัดสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) อำเภอบางกลํ่า จังหวัดสงขลา มีจุดสิ้นสุดที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 รวมระยะทาง 70.43 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งอย่างครบวงจรระหว่างอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งสินค้าสำหรับการค้าชายแดนในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี 

“กนอ.มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานพาหนะ หรือเครื่องจักร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสายเคเบิ้ล รวมถึงอุตสาหกรรมเบา ซึ่งจากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา การมีด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 เชื่อว่าจะเพิ่มศักยภาพให้ทั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ที่มีความโดดเด่นอยู่แล้วได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex