บอร์ด EV ไฟเขียวตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ดึง 29 หน่วยงานร่วมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณามาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ โดยได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ภายใต้บอร์ด EV ซึ่งประกอบไปด้วย 29 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอาชีวศึกษา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เป็นต้น โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นเลขานุการในคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว
Toyota ครองตำแหน่งแบรนด์รถอันดับ 1 ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน | FactoryNews ep.44/6
โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
รวมถึงการบริหารและการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและชิ้นส่วน หรือภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย โดยหลังจากนี้จะดำเนินการเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการฯ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อลงนามคำสั่งแต่งตั้ง และจะดำเนินการวางแผนงานกำหนดแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 29 หน่วยงานต่อไป
ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ระหว่างการจัดทำและประกาศใช้แล้ว รวมจำนวน 138 มาตรฐาน เช่น สถานีชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าและด้านข้าง เป็นต้น โดยมี 3 มาตรฐานที่อยู่ระหว่างดำเนินการเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ สถานีชาร์จ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าและด้านข้าง
และขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 221-2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองแล้ว จำนวน 3 ราย และการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 222-2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองแล้ว จำนวน 1 รายซึ่งการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว