ปตท.สผ. เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2564 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 1,779 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 54,034 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับ 1,348 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 40,494 ล้านบาท) ในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยหลักมาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,391 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 42,136 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่สูงขึ้นร้อยละ 10 มาอยู่ที่ 40.38 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในไตรมาสแรกนี้ บริษัทมีกำไรจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring item) เพิ่มขึ้น จากการซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 ในโครงการโอมาน แปลง 61 ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม จำนวน 350 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 10,772 ล้านบาท)
ในไตรมาส 1 นี้ บริษัทมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 382,877 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้วซึ่งมีปริมาณ 381,285 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
สำหรับค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 1 อยู่ที่ 1,213 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 36,764 ล้านบาท) ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในไตรมาสนี้ บริษัทจะมีรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) และค่าใช้จ่ายในการบริหาร (General & Administrative Expenses) ลดลง แต่บริษัทมีการบันทึกรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์โครงการสำรวจในประเทศบราซิล จำนวน 145 ล้านดอลลาร์ สรอ. และผลขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันที่ 107 ล้านดอลลาร์ สรอ.
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1 จำนวน 376 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 11,534 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 364 เมื่อเทียบกับ 81 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 2,433 ล้านบาท) ในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ร้อยละ 74 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ลงมาอยู่ที่ 27.96 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
- ปตท.สผ. พบก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดนอกชายฝั่งมาเลเซีย
- กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จี้ เชฟรอน- ปตท.สผ. เร่งประสานปัญหาพื้นที่เอราวัณ
- ปตท.สผ. เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติแปลงเอช แล้ว
“ผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาขายที่เริ่มฟื้นตัวตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และยังมีความสำเร็จหลายประการที่เกิดขึ้นในไตรมาสนี้ ทั้งการซื้อสัดส่วนการลงทุนในแปลง 61 ประเทศโอมานที่เสร็จสมบูรณ์ และการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย – แปลงเอช เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการขายได้ทันที และส่งผลให้สามารถปรับเพิ่มเป้าหมายการขายในปีนี้ขึ้นเป็น 405,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ในด้านการสำรวจปิโตรเลียม เราค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ จากการเจาะหลุมสำรวจในมาเลเซียหลายแปลง เช่น หลุมโดกง-1 ในโครงการซาราวัก เอสเค 417 และหลุมซีรุง-1 ในโครงการซาราวัก เอสเค 405บี โดยยังมีแผนการเจาะสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งน้ำมันและก๊าซฯ ในแปลงอื่น ๆ ด้วย
ส่วนแหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการซาราวัก เอสเค 410บี ซึ่งเราค้นพบก๊าซธรรมชาติปริมาณสูงในปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อทำการเจาะหลุมประเมินผลในปีนี้ พบว่ามีปริมาณก๊าซฯ มากกว่าที่คาดไว้ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทเคยสำรวจพบ ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับ ปตท.สผ. ในอนาคตแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างฐานการลงทุนของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย” นายพงศธร กล่าว