อัพเดทข้อมูลเชิงนโยบายกับปาฐกถาพิเศษ Industry Transformation Thailand 4.0

Date Post
26.03.2019
Post Views

ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 นโยบายเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกที่มีหลากหลายปัจจัยเป็นตัวผลักดัน นำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่มีนโยบายการสนับสนุนและดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจน ปัจจุบันนโยบายดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไรมาอัพเดทกันกับปาฐกถาพิเศษงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 เรื่อง “Industry Transformation Thailand 4.0” โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

อัพเดทข้อมูลเชิงนโยบายกับปาฐกถาพิเศษ Industry Transformation Thailand 4.0

Thailand 4.0 คืออะไร?

นโยบายเศรษฐกิจภายใต้ Thailand 4.0 นั้นเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกในปัจจุบัน โดยมุ่งจัดการกับปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่

  1. กับดักประเทศรายได้ปานกลาง
  2. กับดักความเหลื่อมล้ำ/ไม่เท่าเทียม
  3. กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา

ซึ่งการจัดการกับกับดักซึ่งเป็นปัญหาทั้ง 3 ประการนั้นภาครัฐได้วางกลไกสำหรับดำเนินการ ดังนี้

  1. กลไกการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์
  2. กลไกการสร้างความเติบโตจากภายในด้วยการกระจายรายได้ โอกาสและความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม
  3. กลไกการพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามแผน Thailand 4.0 นั้นปรับเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญทุกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมตามระยะแผนการดำเนินการอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากต้องการให้เกิดการทุ่มเททั้งกำลังเงินทุนรวมถึงเวลาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงแผนเวลา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนในระยะแรก ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
  2. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
  3. อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ
  4. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนในระยะที่ 2 ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
  3. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/กลุ่มรายได้ดี
  5. อุตสาหกรรมดิจิทัล

นอกจากนี้ยังมีการเสริมกิจการที่เพิ่มเติมเสริมเข้ามาภายหลัง ได้แก่

  1. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  2. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

ในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ศักยภาพแรงงานที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของนโยบายที่ม้ความต้องการทางด้านเทคโนโลยีสูง

“คน” ปัจจัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0

ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรงงานกว่า 28 ล้านตำแหน่งในอาเซียนจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดย 21.4 ล้านตำแหน่งจะถูกทดแทนในขณะที่ 6.6 ล้านตำแหน่งต้องเรียนรู้หรือปรับปรุงทักษะใหม่

สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นการพัฒนาทักษะแรงงานมีการสนับสนุนอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมทักษะเฉพาะจากผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ หน่วยงานของรัฐและเอกชนต่าง ๆ การพัฒนาทักษะเหล่านี้เป็นการต่อยอดที่สร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากต้องการปรับเปลี่ยนตั้งแต่พื้นฐานจำเป็นต้องใช้เวลาและการทุ่มเทเป็นอย่างมาก ดังนั้นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจึงเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพที่เน้นการสร้างคุณภาพตั้งแต่พื้นฐาน  ภาครัฐจึงได้จัดตั้งสัตหีบโมเดลเพื่อพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ให้มีศักยภาพตอบสนองต่อโครงการ EEC โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่มีการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบาย 4.0 อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่โครงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา ไปจนถึงการลงทุน การจัดตั้งวังจันทร์วัลเลย์เมืองอัจฉริยะที่รองรับกิจกรรมวิจัยและพัฒนา รวมถึงเสริมสร้างความรู้ด้านทักษะและวิชาการได้เป็นอย่างดี

SMEs ส่วนสำคัญสำหรับการเติบโต

SMEs เป็นผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากที่สุด ความเข้มแข็งของธุรกิจ SMEs ส่งผลศักยภาพโดยรวมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาครัฐหันมาผลักดันมาตรการส่งเสริม SMEs ผ่านแนวทางดังนี้

  1. ขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) 23 แห่ง ทั่วประเทศ
  2. ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs
  3. การฝึกฝนโค้ช
  4. จัดทำฐานข้อมูลประชากร SMEs ผ่าน Big Data
  5. เชื่อมต่อ SMEs กับห่วงโซ่ธุรกิจระดับโลก
  6. ผลักดัน SMEs สู่ห่วงโซ่การผลิตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B
  7. โครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้การเงิน
  8. SMEs Standard Up ยกระดับมาตรฐาน SMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ
  9. ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบันทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีขึ้น โดยปี 2561 มี GDP 4.5% สูงท่ีสุดในรอบ 5 ปี   ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 14 ในขณะที่แหล่งข้อมูลจากต่างประเทศจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่อันดับ 8 จาก 20 ประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุน ธนาคารโลกจัดอันดับโลจิติกส์ของไทยขยับขึ้น 13 อันดับเป็นอันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศ และการประมวลข้อมูลของ WEF จาก ศสช. พบว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้น 2 อันดับ เป็นอันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ

สถานการณ์ภาพรวมในปัจจุบันของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นมีการเติบโตที่ดี เป็ฯผลมาจากความสำเร็จและการเติบโตของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางจำนวนมากมีศักยภาพที่น่าสนใจไม่แพ้ผู้ประกอบการรายใหญ่แต่ขาดการสนับสนุน นโยบาย Thailand 4.0 ตั้งเป้าผลักดัน SMEs รวมถึงอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัจจุบันโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นแล้วหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ การพัฒนาศักยภาพแรงงาน แต่สำหรับการพัฒนาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่จำเป็นต้องรอดูกันต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire