รัฐบาลเดินหน้านโยบายสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เตรียมทัพบุคลากรระดับสูงกว่า 80,000 คน รองรับเป้าหมายการลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งอนุกรรมการวางโรดแมปพัฒนาฐานเซมิคอนดักเตอร์ไทย พร้อมเจาะ 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เผยยอดส่งเสริมลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มต่อเนื่อง รวมกว่า 1,200 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (National Semiconductor and Advanced Electronics Strategy) และรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด กำกับการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2568 – 2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิสก์ขั้นสูงในภูมิภาค
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป (Chip) หรือหน่วยประมวลผล ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้งานในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Data Center, IoT, ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมายาวนาน โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดส่งออกสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนดังกล่าว มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญในห่วงโซ่อุปทานกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรม เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ดังนั้น การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงและต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้ และการจัดตั้ง “บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ” เพื่อสร้างโรดแมประดับประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียน
การประชุมครั้งนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อเร่งสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยมีมติสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้
1. การจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยเห็นชอบให้จัดจ้าง ที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินศักยภาพของประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน และในระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่การจัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนรายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
2. การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรับทราบแผนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการผลิตบุคลากรเฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คนภายในปี 2573 ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill หลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น Sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่ง พร้อมแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ เช่น ศูนย์ผลิต Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมความเชื่อมั่นและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย
นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีเลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธาน
“เซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคตในแทบทุกอุตสาหกรรม การสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นยุทธศาสตร์ในระดับโลกและเป็นโอกาสครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทย การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่ครอบคลุมทั้งการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรม การออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุน การเตรียมพร้อมบุคลากร การสนับสนุนภาควิชาการและการวิจัย รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเซมิคอนดักเตอร์ การที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญโดยรับเป็นประธานบอร์ดด้วยตนเอง จะช่วยเร่งสร้างความร่วมมือที่เป็นเอกภาพระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ทำให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและมาตรการสนับสนุนได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการวิจัยขั้นสูง” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 – กันยายน 2567 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 876,328 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น