บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2562 มีกำไรสุทธิ 5,963.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7%จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตอีก 780 เมกะวัตต์ และลงทุนโครงการระบบสาธารณูปโภคให้ถึง 5% ของเงินลงทุนในปีนี้ โดยจัดเตรียมเงินลงทุนจำนวน 20,000 ล้านบาท รองรับเป้าหมายการลงทุนใหม่และโครงการเดิมที่ลงทุนไว้แล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาการลงทุนในโครงการด้านนวัตกรรมที่เป็นธุรกิจ New S-Curve และเตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) ระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ ด้วย
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2562 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปี 2562 โครงการโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2562 รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน-1 ในอินโดนีเซียที่ได้ลงทุนเมื่อปลายปี 2561 และโครงการพลังงานลมเมาท์เอเมอรัล ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อปลายปีเดียวกัน บวกกับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2562 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6.7% เป็นจำนวน 5,963.28 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.11 บาท ขณะที่กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้และอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เป็นจำนวน 9,996.24 ล้านบาท สำหรับปี 2563 บริษัทฯ มุ่งเน้นการลงทุนแบบซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้วและโครงการประเภท Brownfields มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับรู้ผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่ากิจการได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้ามาช่วยทดแทนรายได้จากโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้ด้วย
“ในปีนี้ บริษัทฯ คาดหมายว่าจะสามารถสรุปการเจรจาเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศได้ประมาณ 5 โครงการ ส่วนการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งบริษัทฯ เข้าร่วมประมูลในนามกิจการร่วมค้า BGSR คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในกลางปีนี้ สำหรับเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ ได้รวมกำลังการผลิต 720 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้แล้ว โดยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังการผลิต 714 เมกะวัตต์ ที่ได้ลงทุนแล้วจะเข้ามาทดแทนกำลังผลิตดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทสำหรับสานต่อโครงการที่ลงทุนไว้แล้วและการซื้อกิจการเพิ่มในปีนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น 8,715.07 เมกะวัตต์” นายกิจจา กล่าว
สำหรับเป้าหมายการลงทุนในปีนี้ ประกอบด้วยโครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราช โคเจนเนอเรชั่น โครงการโรงไฟฟ้าประเภท SPP และโครงการโรงไฟฟ้า Independent Power Supply ส่วนในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และพลังงานทดแทน โดยประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ เวียดนาม สปป. ลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ส่วนโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการประเภท PPP ของภาครัฐ และธุรกิจ New S-Curve ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีๆใหม่ รวมทั้ง Internet of Things ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ
ผลการดำเนินงานในรอบปี 2562 บริษัทฯ รับรู้รายได้รวม จำนวน 43,220.07 ล้านบาท มาจากรายได้หลัก 3 ส่วนสำคัญ คือ รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 38,364.34 ล้านบาท รายได้จากส่วนแบ่งจากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุน จำนวน 3,968.38 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 887.35 ล้านบาท ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 100,229.43 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 40,815.50 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 59,413.93 ล้านบาท
บริษัทฯ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 2 /2563 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติจ่ายเงินปันผลปี 2562 หุ้นละ 2.40 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 3,480 ล้านบาท โดยจะนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 9 เมษายน 2563 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 (งวดเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562) แล้ว