สมอ. กำหนดให้พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุม หลังพบเกิดเหตุระเบิดบ่อยครั้ง มีผลบังคับใช้ 16 พฤศจิกายน 2563 นี้ เตือนผู้ประกอบการทุกราย ทั้งทำ และนำเข้า ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน มิฉะนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมายทันที
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้กำหนดให้พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน หลังจากที่มีข่าวพาวเวอร์แบงค์ระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ตามมาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่วางไว้อยู่ในรถที่ตากแดดเป็นเวลานาน หรือชาร์ททิ้งไว้ในบ้านพักแล้วเกิดเหตุระเบิดจนไฟลุกไหม้ที่พักอาศัย สร้างความเสียหายและอันตรายแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
สมอ. จึงได้กำหนดให้พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุม คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป ส่งผลให้พาวเวอร์แบงค์ในท้องตลาดทุกยี่ห้อ ต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรอง โดยผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำหรือนำเข้าสินค้าดังกล่าว รวมถึงร้านค้าที่ขายสินค้าจะต้องขายเฉพาะที่มีเครื่องหมาย มอก. เท่านั้น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามกฎหมาย กรณีที่ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าที่ขายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 100 ราย ที่ทำหรือนำเข้าให้มายื่นขอใบอนุญาตแต่เนิ่นๆ ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้การค้าขายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมในการออกใบอนุญาตตามมาตรฐาน มอก. 2879-2560 ให้กับผู้ประกอบการทุกท่านแล้ว ท่านสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ตั้งแต่บัดนี้
เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า “ถึงแม้ว่า สมอ. จะกำหนดให้พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุม แต่ผู้บริโภคก็ควรใช้ให้ถูกวิธีตามข้อแนะนำในการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและเกิดความสูญเสียตามมา เช่น ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงค์ไว้ใกล้แหล่งความร้อน ความชื้น น้ำหรือของเหลว หลีกเลี่ยงการวางไว้ในที่ที่โดนแดดโดยตรง หรือวางใกล้แก๊สที่ติดไฟได้ และควรระวังการถูกกระแทก กดทับ หรือเจาะ และไม่ใช้งานขณะที่พาวเวอร์แบงค์เปียกหรือได้รับความเสียหาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ใช้งาน และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง”