สมอ. สนองนโยบายรัฐบาล BCG เปิดตัวมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน – Circular Economy หนุนผู้ประกอบการนำไปใช้เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าผลักดันทุกภาคส่วนนำไปประยุกต์ใช้ ยกระดับภาคอุตสาหกรรมควบคู่การรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง “มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน : สร้างสมดุลการพัฒนาสู่ความยั่งยืน” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ซึ่งเป็นโมเดลการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติพร้อมกัน คือ Bio Economy , Circular Economy และ Green Economy ที่มุ่งยกระดับระบบการผลิตในปัจจุบัน ไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่
โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด ในกระบวนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย และการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อ รักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันมาตรการส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยทั้งสามมิติ และเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการด้าน BCG ตามภารกิจของหน่วยงาน ทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนกองทุนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย BCG อย่างเป็นรูปธรรม
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาลด้าน BCG โดยการกำหนดมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน – Circular Economy หรือแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) เลขที่ 2 – 2562 โดยอ้างอิงมาจากมาตรฐาน BS 8001 : 2017 ของประเทศอังกฤษ และได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กร ในการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตั้งเป้าผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำมาตรฐานดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กร และการดำเนินธุรกิจด้วย
มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นมีจำนวนลดน้อยลง จนกระทั่งนำไปสู่การไม่มีของเสีย
การสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อภาคอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ โดย สมอ. ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในการสัมมนาในวันนี้ อาทิ ดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความจำเป็นของมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)” ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้ริเริ่มในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม บรรยายพิเศษ เรื่อง “มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนในบทบาทภาคเอกชน” ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 5 เศรษฐกิจหมุนเวียน บรรยายเรื่อง มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ : แนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานเลขที่ มตช. 2-2562 นอกจากนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งท่านเป็นคณะอนุกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 5 เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นผู้มีประสบการณ์ในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้หน่วยงาน มาให้ความรู้ในช่วงการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อสร้างสมดุลการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในประเทศไทยด้วย โดยการสัมมนาครั้งนี้มีผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรม สนใจเข้าร่วมการสัมมนากว่า 400 ราย