สศอ. เผย MPI เดือนธันวาคม 2563 หดตัวลดลง ร้อยละ 2.44 จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.68 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองคำในเดือนธันวาคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 6.68 โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหักทองคำขยายตัวร้อยละ 13.61 สูงสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการผลิตในระยะต่อไป
โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2563 หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.44 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการควบคุมการระบาด เนื่องจากระบบการสาธารณสุขของไทยมีความสามารถในการป้องกันและควบคุมโรคได้ดี ประกอบกับประชาชนมีความรู้และมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ในเบื้องต้น
รวมทั้งผู้ประกอบการก็มีระบบการจัดการแก้ปัญหาจากโควิด-19 รอบแรก จึงส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงขยายตัวตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือยาง เภสัชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในล็อตแรก และต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งในการผลิตและการบริโภคตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น
“แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม ยานยนต์ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอยู่ในหลักแสนคันเป็นเดือนแรกเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งมีการออกรถยนต์รุ่นใหม่และการส่งเสริมการขายในงานมหกรรมยานยนต์เมื่อวันที่ 1-13 ธันวาคม 2563 โดยมียอดจองรถยนต์กว่า 33,000 คัน และการผลิตเป็นไปตามเป้าของปี 2563 จำนวน 1.4 ล้านคัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มตาม”
นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 ยังขยายตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 13.61 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการผลิตในระยะต่อไป
นายทองชัย กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีกทั้งในเดือนกุมภาพันธ์รัฐบาลได้อนุมัติโครงการเราชนะ จะส่งผลให้การบริโภคของภาคครัวเรือนและการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ดีขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนได้ผลและมีประสิทธิภาพ คาดว่าการส่งออกรวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นกลจักรสำคัญของประเทศกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ
- สศอ.เผย MPI เดือน5 หดตัวร้อยละ23.19
- สศอ. เผย โควิด-19 กระทบ MPI เม.ย. หดตัวร้อยละ 17.21
- สศอ.เผย โควิด-19 กระทบ MPI เดือนมี.ค. หดตัวร้อยละ11.25
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนธันวาคม 2563 ได้แก่
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.03 เนื่องจากตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์
รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.49 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล จากตลาดในประเทศที่ปรับตัวได้ดีขึ้นจากการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2020 ช่วงต้นเดือนธันวาคมผู้ผลิตออกรถยนต์รุ่นใหม่และจัดแคมเปญพิเศษทำให้มีคำสั่งซื้อและส่งมอบเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีกำลังซื้อจากสินค้าเกษตรปรับตัวสูง รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจขนส่งจากการเติบโตของตลาดออนไลน์
ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.80 จากยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถกะบะ และยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากไทยมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าประเทศอื่น การขยายสาขาศูนย์ยางรถยนต์ใหม่และอานิสงค์จากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2020 ทำให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.50 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เป็นหลัก เป็นคำสั่งซื้อพิเศษจากอเมริกาเพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า
เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.30 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กลวดและลวดเหล็ก เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ อาหารกระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า