สสว ชี้ เทรนด์ธุรกิจ SME
สสว ชี้ เทรนด์ธุรกิจ SME

สสว ชี้ เทรนด์ธุรกิจ SME ดาวรุ่ง-เฝ้าระวัง ปี 2566

Date Post
20.12.2022
Post Views

สสว. เผยธุรกิจ SME ดาวรุ่ง ปี 2566 อยู่ในธุรกิจขายของ Online  ธุรกิจสายมู ส่วนธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เช่น ธุรกิจให้เช่าที่พัก หอพัก ฟิตเนสแบบ Indoor 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ สสว. เกี่ยวกับสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ในรอบปี 2565 พบว่า ธุรกิจ SME เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ Covid 19 โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสันทนาการ ทั้งเกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ร้านขายของที่ระลึก ผับ บาร์ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศูนย์อาหาร บริการจัดเลี้ยง ธุรกิจและ Event ด้านกีฬา ธุรกิจขายของมือสองและธุรกิจให้เช่า ธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อ 

สำหรับธุรกิจที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดีในปี 2566 ได้แก่ ธุรกิจขายของ Online ธุรกิจกีฬา และร้านโชห่วย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2566 ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งออกของประเทศ การบริโภคภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อ และราคาพลังงาน

CrystalFloor เรื่อง ‘พื้น ๆ ’ ที่ไม่ธรรมดา ด้วยน้ำยาชนิดพิเศษจาก REENTECH

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลสำรวจยอดขายรายไตรมาส ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับฐานข้อมูล SME ของ สสว. รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถแยกกลุ่มธุรกิจที่จะมีอนาคตสดใสเป็นดาวรุ่ง กลุ่มธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว และกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง ในปี 2566 ได้ดังนี้

กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งในปี 2566 ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งจากCovid-19 และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยจะมีการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น มีส่วนลด หรือซื้อในปริมาณน้อยลง สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขายของ Online ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อน Covid -19 จากความคุ้นเคยของผู้บริโภคในการใช้งานแพลทฟอร์มต่าง ๆ ความสะดวกในการชำระเงิน ช่องทางการส่งสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ SME ในกลุ่มนี้ถึง 20,461 ล้านบาท 

เช่นเดียวกับร้านโชห่วย โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารสดและยาสูบที่กำลังซื้อในธุรกิจนี้กลับมาเติบโตในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่สามารถต่อรองราคา ขอเชื่อหรือเลือกซื้อในปริมาณน้อยได้ คาดว่าธุรกิจนี้ทำรายได้ให้กับ SME ถึง 1.25 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจจัดงานแข่งขันหรืออีเว้นท์กีฬา เช่น งานวิ่ง งานแข่งจักรยาน มวย ที่เติบโตอย่างมากภายหลังประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ SME กลุ่มนี้ 1,504 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 

ทั้งนี้การจัดอีเว้นท์ดังกล่าวยังช่วยกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากการเดินทางไปร่วมกิจกรรมและการท่องเที่ยวอีกด้วย กลุ่มธุรกิจกลับมาฟื้นตัว ส่วนใหญ่ได้รับผลจากการเปิดประเทศรวมทั้งพฤติกรรมประชาชนหลัง Covid -19 ได้แก่ เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ร้านขายของที่ระลึก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแนววัฒนธรรมชนบท ธุรกิจด้านบันเทิง ได้แก่ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บาร์และดิสโก้เทค ธุรกิจด้านจัดทำคอนเท้นท์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟแวร์และเกมส์ ธุรกิจบริการจัดเลี้ยงและให้เช่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจขายของมือสองและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ ธุรกิจโหราศาสตร์และความเชื่อหรือธุรกิจสายมู ที่เติบโตต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2566 ได้แก่ ธุรกิจที่พักคนงาน เนื่องจากแรงงานต่างชาติยังไม่กลับมา ธุรกิจหอพักนักศึกษา จากการปรับรูปแบบเป็นเรียนออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากการระมัดระวังการใช้จ่ายซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจจำหน่ายและซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง 

นอกจากนี้ ธุรกิจฟิตเนสแบบ Indoor ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคหลัง Covid -19 ที่เน้นการออกกำลังกายในบ้านหรือกลางแจ้งมากขึ้น

จะเห็นว่า การที่ธุรกิจจะเติบโตหรือถดถอยนั้น มีปัจจัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ความสามารถในการปรับตัวของ SME จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ที่จะนำพาให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้จากการจัดทำดัชนีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของ SME ของ สสว. พบว่า ค่าดัชนีของวิสาหกิจขนาดย่อยและขนาดย่อม ยังมีระดับความรู้ ทักษะ และทัศนคติของผู้ประกอบการที่สะท้อนถึงการปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และเข้าถึงการรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ต่ำกว่าค่าดัชนีของวิสาหกิจขนาดกลาง

ดังนั้น สสว. จึงได้ออกมาตรการและโครงการส่งเสริม SME เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) และ มาตรการช่วยเหลืออุดหนุน SME ผ่านระบบ BDS (Business Development Service) หรือ “SME ปัง ตังได้คืน” ซึ่งเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (co-payment) ให้กับผู้ประกอบการ SME ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 สำหรับการเข้ารับบริการกับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Service Provider) ในการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถอุดหนุน SME รวมกว่า 20 ล้านบาท 

และยังมีงบประมาณที่พร้อมสนับสนุน SME อีกกว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและยกระดับระบบสนับสนุนและเชื่อมโยงระบบนิเวศเพื่อการทำธุรกิจผ่าน SME One ID เพื่ออำนวนความสะดวกให้แก่ SME ในการเข้าถึงการส่งเสริมสนับสนุน และบริการภาครัฐได้ สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวยังคงดำเนินการเพื่อสนับสนุน SME อย่างต่อเนื่อง

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์