ภาระหนี้สิน SME

สสว. เผย ภาระหนี้สิน SME ไตรมาส 3 ขยายตัวต่อเนื่อง แนวโน้มกู้ยืมเงินนอกระบบมากขึ้น

Date Post
20.10.2023
Post Views

สสว. เผย ภาระหนี้สิน SME ไตรมาส 3/2566 ขยายตัวต่อเนื่อง แนวโน้มกู้ยืมเงินนอกระบบมากขึ้นจากเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นและอัตราดอกเบี้ยสูง การเข้าถึงสินเชี่อยังเป็นอุปสรรคสำคัญของ SME ภาครัฐควรช่วยหาแนวทางเพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะในรูปแบบเงินทุนหมุนเวียนของกิจการที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SME ถึงสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาส 3 ปี 2566 ซึ่งเป็นการสำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,633 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 13 – 22 กันยายน 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีภาระหนี้สินในไตรมาส 3 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 60.3 ส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Small) และขนาดกลาง (Medium) โดยเฉพาะสาขาการบริการ ด้านการขนส่งสินค้า ร้านอาหาร การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ 

สำหรับแหล่งกู้ยืมของธุรกิจ SME ร้อยละ 66.2 กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน อีกร้อยละ 33.8 มาจากแหล่งเงินทุนนอกระบบสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ในธุรกิจภาคการค้า โดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ที่ใช้บริการจากแหล่งนี้และเป็นการกู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องมากที่สุด ตามข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 

Automation Summit 2023

จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ประกอบการ SME เกือบร้อยละ 90 กู้ยืมเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รองลงมา คือ กู้ยืมเพื่อนำมาลงทุน และการชำระหนี้เดิม ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มีภาระหนี้สินอยู่ในช่วง 50,000 ถึง 500,000 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามขนาดของธุรกิจ 

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 30 ประเมินว่าระยะเวลาสัญญาเงินกู้ของ SME ที่ได้รับ ยังสั้นเกินไปจึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่ก็ยังมี SME อีกร้อยละ 20 ที่มีแผนจะกู้ยืมในอนาคตเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ แม้ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 75 กำลังเผชิญปัญหาด้านการเงินและภาระหนี้สินทั้งการมีสภาพคล่องลดลง เผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่ง SME เกือบร้อยละ 50 ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา แต่ SME ร้อยละ 38.4 เริ่มผิดเงื่อนไขการชำระหนี้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 

ปัญหาสำคัญมากที่สุดในด้านหนี้สินของ SME คือ อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เป็นภาระและความเสี่ยงด้านต้นทุนและการลงทุนในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น 

ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ปัญหาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SME ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง คือ ขั้นตอนการกู้ยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารหลักฐานสำคัญจำนวนมาก และอนุมัติล่าช้า ขาดความรู้ในการจัดการบริหารการเงินและหนี้สิน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ 

และสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดคือ การลดอัตราดอกเบี้ยหรือการได้รับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ รวมถึงการลดเงื่อนไขการยื่นขอเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อ การมีสถาบันการเงินสำหรับธุรกิจรายเล็กหรือรายย่อยโดยเฉพาะ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ เป็นต้น

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex