สอน. จับมือ ซีแพค รับซื้อใบและยอดอ้อย ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และ PM 2.5 พร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กับ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) โครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ว่า โครงการดังกล่าวจะดำเนินการรับซื้อใบและยอดอ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตัน และลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่ โดยจะนำเศษวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยไปเป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ด้านนายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า โครงการจะร่วมกันดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย สอน. จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการประสานเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 แหล่ง ได้แก่ อำเภอท่าหลวง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วน ซีแพค จะดำเนินการรับซื้อใบอ้อยจากพื้นที่เป้าหมาย ในราคา 200 – 1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งโรงงานแปรรูปใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน และดำเนินการขนส่งใบอ้อยที่แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนแล้วและนำไปใช้งาน
- สอน.มอบ89 รางวัล ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ปี 63
- สอน.เดินหน้า 4 มาตรการ แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้
- สอน.จ่ายเงินช่วยชาวไร่อ้อยงวดสุดท้าย 3,293 ลบ.
- สอน. เปิดตัว แก้วพลาสติก ผลิตจากอ้อย
ด้านนายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน CPAC กล่าวว่า กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนจะขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน