กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้ามาตรการเร่งด่วน ปล่อยกู้เอสเอ็มอีไทย วงเงิน 35,000 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.2 แสนล้านบาท และรักษาการจ้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SME สร้างไทย” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ว่า ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เร่งดำเนินการตามมติ ครม.ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่าน 2 โครงการ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) 20,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งรวมถึง ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยมีอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นตั้งแต่ 3% ต่อปีขึ้นไป วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
และอีกหนึ่งโครงการ คือโครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง เป็น Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ได้ขยายจากเดิมกลุ่มเอสเอ็มอี S-Curve เพิ่มกลุ่ม supply chain และธุรกิจอื่น ๆ โดยได้เตรียมวงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์ทั้ง 18 แห่ง โดยมีอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อราย
“กระทรวงอุตสาหกรรม ได้พิจารณาโครงการสินเชื่อทั้ง 2 โครงการ พบว่าเมื่อปล่อย เข้าระบบทั้งหมดแล้ว จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 17,600 ราย และจะสามารถรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 101,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 320,600 ล้านบาทภายในปี 2564 ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 18 ธันวาคมนี้ หรือจนกว่าวงเงินหมด” นายสุริยะ กล่าว