Kosmo

สุริยะ สั่งเร่งแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5

Date Post
22.01.2020
Post Views

สุริยะ สั่งเร่งแก้ปัญหามลพิษ PM 2.5 ขอโรงงานลดกำลังการผลิต ควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากการประกอบกิจการ  และกำหนดมาตรการ ปรับปรุง ฝุ่นละออง


นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการในการควบคุม และป้องกันการเกิดปัญหาคุณภาพอากาศมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบ กำหนดมาตรการ และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดหรือลดปัญหาฝุ่นละออง ที่มีสาเหตุจากกระบวนการอุตสาหกรรม แลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในการลดกำลังการผลิตลงด้วย โดยเบื้องต้นได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดให้ออกมาตรการบรรเทาปัญหา การกำกับดูแลสถานประกอบการอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการดังนี้

1) ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมในการลดกำลังการผลิต ควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากการประกอบกิจการ และขอความร่วมมือโรงงานที่ติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ (CEMS) ที่อยู่นอกพื้นที่บังคับใช้ตามกฎหมายให้เชื่อมต่อข้อมูลรายงานคุณภาพอากาศมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม

2) ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยแผนการตรวจโรงงานประจำปี 2563 เน้นโรงงานที่เคยมีปัญหาข้อร้องเรียนด้านฝุ่นละอองในปีที่ผ่านมา 

3) กำกับดูแลให้โรงงานตรวจสอบระบบบำบัดอากาศให้มีประสิทธิภาพ

4) ส่งเสริมให้โรงงานใช้เทคโนโลยีสะอาด   ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงกระบวนการเพื่อการลดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)

5) ประสานขอความร่วมมือกับกองทัพอากาศสำรวจสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดร่วมกับโดรน    

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเงินที่หักจากค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว และอ้อยที่มีกาบใบ พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้หักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีเต็มจำนวนโดยคิดแยกเป็นรายโรง

และมาตรการปรับเงินสำหรับโรงงานน้ำตาลที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกินจำนวนที่กำหนด ในอัตราตันละ 12 บาท โดยให้นำเงินส่วนนี้เป็นรายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อนำไปใช้ในโครงการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ต่อไป

นอกจากนี้ได้ประสานความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ สมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และเกษตรกรชาวไร่อ้อย  ในพื้นที่ รณรงค์ไม่ให้เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่อง มาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ และปัญหาของฝุ่น PM 2.5 ที่มาสาเหตุมาจากการเผา

ซึ่งจากรายงานการสำรวจปริมาณอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี 2561/2562 ณ วันหีบที่ 50 ของฤดูการผลิต พบว่ามีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงถึง 7.43 % โดยอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีปริมาณ 20,927,473 ตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 42,621,206 ตัน คิดเป็นร้อยละ 49.10 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

สำหรับมาตรการเกี่ยวกับผู้ประกอบการด้านเหมืองแร่ ขอความร่วมมือสถานประกอบการ 1) ให้ควบคุมการระเบิดให้เป็นไปตามหลักวิชาการเพื่อควบคุมฝุ่นจากการระเบิด 2)ตรวจสอบระบบกำจัดฝุ่นของสถานประกอบการให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเปิดใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาประกอบการ 3) ฉีดพรมน้ำและปรับปรุงเส้นทางขนส่งในเขตเหมืองแร่เป็นประจำเพื่อลดการสะสมฝุ่น

4) ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่สถานประกอบการ ลานเก็บกองแร่และมูลดินทราย เพื่อลดการสะสมของฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ 5) ตรวจสอบระบบล้างล้อรถบรรทุกให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้มีการล้างล้อรถบรรทุก ก่อนออกจากสถานประกอบการทุกครั้ง 6) จัดทำแนวกันชนปลูกต้นไม้โดยรอบสถานประกอบการเพื่อป้องกันฝุ่นจากสถานประกอบการออกไปสู่ภายนอก

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Intelligent Asia Thailand 2025