ส.อ.ท. สัมมนา ค้าปลีกใน Myanmar

Date Post
28.02.2020
Post Views

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ภายใต้กรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย    สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กำหนดจัดงานสัมมนาหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าส่ง-ค้าปลีกใน Myanmar” ณ ห้องประชุม Passion 802 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสายงานโลจิสติกส์ การค้าชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสายงานโลจิสติกส์ การค้าชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนา และนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เป็นผู้บรรยายพิเศษภายใต้ หัวข้อหลัก “การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าส่ง-ค้าปลีกใน Myanmar ยุคใหม่” โดยเจาะลึกรูปแบบการค้าส่ง ค้าปลีก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมไปถึงแผนพัฒนายกเครื่องตลาดการค้าของเมียนมา (New Fresh Market Project) และช่วงบรรยายพิเศษเรื่อง “การจดทะเบียนทำธุรกิจการค้าในเมียนมาต้องทำอย่างไร” โดยมี U Myo Win, Founder/Advocate and Managing Director of the Myo Win & Associates Law Firm เป็นผู้บรรยาย และช่วงสุดท้ายของการสัมนนา ผู้เข้าร่วมงานสัมมนายังได้พบกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์  “เคล็ดลับและความสำเร็จในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ (B2C & B2B) อีกด้วย

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า ค้าส่งและค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมาเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองมากขึ้น หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เรื่องการผ่อนปรนกฎระเบียบการลงทุนจากต่างชาติให้สามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนในบริษัทค้าส่งและค้าปลีกได้ 100% การผ่อนปรนข้อกำหนดดังกล่าวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการลงทุนธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกในเวียดนามและไทย ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของประกาศนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกในเมียนมาและคาดหวังให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกของสินค้าและบริการที่หลากหลายด้วยราคาที่เป็นธรรม

ความน่าสนใจของการลงทุนในเมียนมามีปัจจัยผลักดันมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยจากประมาณการของ Boston Consulting Group พบว่า สัดส่วนประชากร ชนชั้นกลางของเมียนมาจะเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 15% ในปี 2020 ซึ่งยังมีโอกาสเติบโต       อีกมากในอนาคต

ตลาดเมียนมาโดยเฉพาะที่ย่างกุ้งนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก เนื่องจากมีตลาด  โมเดิร์นเทรดที่บุกเข้ามายังเมียนมา จะเห็นว่าปัจจุบันนี้มีห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตผุดขึ้นมาอย่างมโหฬาร ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,400 แห่ง ในย่างกุ้ง ส่วนเมืองใหญ่ๆ เช่น มัณฑะเลย์ เมืองหลวงเนปิดอร์ ก็มีไม่น้อยเช่นกัน การพัฒนาด้านตลาดการค้าในโลกโลกาภิวัฒน์นี้หยุดไม่ได้จริงๆ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมข้อมูลตลาดที่เป็นตลาดสดมาให้ผู้เข้าร่วมเห็นว่า ในอดีตจะเป็นตลาดที่รกรุงรังมาก พอๆ กับประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ที่ยุคนี้มีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง แต่ในอนาคตข้างหน้าหรืออีกไม่นานเกินรอ ทางรัฐบาลเมียนมาได้มีแผนการที่จะปรับปรุงตลาดเหล่านี้ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงอยากเสนอให้ผู้ประกอบการไทยได้เห็นถึงช่องทางและศักยภาพของเมียนมา ถ้าหากเราสนใจที่จะไปลงทุนสร้างตลาด แล้วเข้าไปบริหารเองจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

จึงได้จัดงานสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีและโอกาสในการบอกกล่าวถึงผู้ประกอบการไทย      ได้เข้าไปยืนต่อสู้กับทุนต่างชาติในสมรภูมิการตลาดแห่งนี้ วันนี้มิติของการเปลี่ยนแปลงของเมียนมาชัดเจนขึ้นทุกขณะ เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในเมียนมา เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลงด้านกฏหมาย การเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา การเปลี่ยนแปลงด้านไอทีและการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านดังกล่าว ทำให้โอกาสทางการค้าและการลงทุนย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในปัจจุบันนี้หากมองตามกลุ่มธุรกิจต่างๆ จะพบว่ามีหลากหลายธุรกิจเหมาะสมที่จะเข้าไปบุกตลาดเมียนมาด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่าโอกาสของนักธุรกิจไทยที่มีความชำนาญด้านต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ในรูปของการค้าและการลงทุน อีกทั้งยังสามารถที่จะใช้ที่ประเทศเมียนมาเป็นฐานการผลิตและใช้ประเทศไทยเป็นฐานของการตลาดได้อย่างดี นี่จึงเป็นโอกาสทองของนักธุรกิจไทยทั้งสิ้น

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Nichaphan W.
การตลาดและประชาสัมพันธ์
Store Master - Kardex