Kosmo

มังกรเหล็กผงาด อุตสาหกรรมจีนจากแรงงานสู่ระบบอัตโนมัติ

Date Post
21.11.2018
Post Views

สาธารณรัฐประชาชนจีน อู่วัฒนธรรมโลก ดินแดนแห่งปรัชญาและอุตสาหกรรม ปัจจุบันจีนครองสัดส่วน GDP โลกสูงถึง 50% แต่หากมองย้อนไปไม่ถึง 20 ปี เมื่อได้ยินคำว่าสินค้า ‘จีนแดง’ หลายคนคงส่ายหน้าไปตาม ๆ กัน แต่วันนี้สินค้าชั้นนำต่างตบเท้าเปิดสายการผลิตที่ประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ที่พิถีพิถันอย่าง Apple หรือ Huawei ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบเครือข่าย

จากเถ้าที่เกือบมอดกลับกลายเป็นมังกรที่ผงาดขึ้นเป็นหนึ่งได้อีกครั้งด้วยนโยบายภาครัฐและแรงงานจำนวนมาก ในวันนี้มังกรตัวเดิมกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค ‘มังกรเหล็ก’ ยุคที่ระบบออโตเมชันเป็นสัดส่วนหลักของการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตทั้งหมดจากเดิมที่ศักยภาพการผลิตสูงอยู่แล้วจะทำให้ศักยภาพการผลิตทิ้งห่างประเทศคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่นได้อย่างน่าสะพรึง

ผงาดจากเถ้า

ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนที่มีการสั่งสมวัฒนธรรมมากมายทำให้มีองค์ความรู้ที่หลากหลายและลงลึก แต่ด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1966 เกิดการเผาทำลายความรู้เก่าและปัญญาชนจำนวนมากล้มตายซ้ำร้ายด้วยการปิดประเทศ ทำให้ประเทศเดินถอยหลังและเริ่มต้นฤดูหนาวที่แสนยาวนาน

ฟ้าใหม่เริ่มส่องสว่างเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มนโยบายเปิดประเทศในปี 1978 เพราะมองเห็นว่าการจะนำพาประเทศไปข้างหน้าได้นั้นจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ ขึ้น จึงเริ่มเดินทางเยี่ยมเยือนประเทศเพื่อนบ้าน ผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติด้วยนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา และเซียเหมิน พร้อมนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิ สินค้าส่งออกไม่มีการเสียภาษี ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ดึงดูดความสนใจนักลงทุนจากทั่วโลก พลิกฟื้นจากฤดูหนาวสู่ฤดูเก็บเกี่ยวที่แสนโชติช่วงแห่งยุคสมัย

ทำไมต้องจีน?

ด้วยพื้นที่ที่มีถึง 9 ล้านตารางกิโลเมตรและประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้ประเทศจีนมีข้อได้เปรียบทั้งทางด้านพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงจำนวนแรงงานที่มีมากเกินกว่าประเทศใด ๆ ในโลก ทำให้ประเทศจีนมีความพร้อมสำหรับงานหรือโครงการใด ๆ ก็ตามที่ต้องการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยเพาะอย่างยิ่งภายหลังเปิดประเทศในขณะที่ประชากรมีภาวะอดอยากแร้นแค้นยิ่งส่งผลให้มีค่าแรงที่ต่ำมาก

นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานจากความอดอยาก นโยบาย ‘4 ทันสมัย’ ที่เน้นการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหารและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นตัวผลักดันประเทศ สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เมือง ได้แก่ เซินเจิ้น (Shenzhen) , จูไห่ (Zhuhai), เซี่ยเหมิน (Xiamen) และ ซัวเถา (Shantou) รวมถึงใช้นโยบาย 1 ประเทศสองระบบ แบ่งการปกครอบแบบดั้งเดิมและเสรีทุนนิยมในประเทศเดียวกัน

โดยปัจจุบันจุดเด่นของการลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศจีนที่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกได้มีดังนี้

  1. สายการผลิตมีราคาถูก ด้วยนโยบายด้านภาษีทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการนำเข้าทรัพยากรที่ต่ำ รวมถึงการปลอดภาษีส่งออก ไม่จำกัดระยะเวลาใด ๆ ในการดำเนินการผลิตหรือกักเก็ฐสินค้า
  2. ผลิตได้มากในเวลาที่น้อย ด้วยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ความตื่นตัวของประชากรและจะนวนประชากรที่มีจำนวนมากถึง 1 พันล้านคน ทำให้สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศอื่น ๆ
  3. ขยายโอกาสทางการตลาดได้ง่าย ด้วยพื้นที่จำนวนมากสามารถขยายโรงงานได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีพรหมแดนติดกับหลากหลายประเทศ ไม่ไกลจากยุโรปทำให้เป็นฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นตัวเลือกที่น่าลงทุนอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอีกสำหรับบริษัทที่ดำเนินการอย่างถูกกฎหมายในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีรายละเอียดตรงกับเงื่อนไขเหล่านี้

  • ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องในจีน
  • มีกิจการในสาขา: ข้อมูลอิเล็กทรอนิก ยาแผนปัจจุบัน อากาศยาน วัสดุขั้นสูง พลังงานใหม่และการประหยัดพลังงาน สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ ธุรกิจงานบริการสำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ
  • ต้องมีบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคอย่างน้อย 30% ในบริษัทและต้องมีการวิจัยและพัฒนาในหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในจีนต้องมีไม่น้อยกว่า 60% เมื่อเปรียบเทียบจากผลรวมองค์กรนั้น ๆ ทั่วโลก
  • รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีเทคโนโลยีใหม่หรือเทคโนโลยีระดับสูงของบริษัทต้องมีสัดส่วน 60% ของรายได้ทั้งหมดสำหรับปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้เทคโนโลยีกลายเป็นหัวหอกในการผลักดันอุตสาหกรรมของจีนให้รุดหน้าเรียกได้ว่าจากคลานเป็นวิ่งในเวลาไม่กี่สิบปี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจดิจิทัลและสตาร์ทอัพ

สู่วิถีมังกรเหล็ก

ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายแรงงานเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคโดยเฉพาะในประเทศที่มีการเติบโตในพริบตาอย่างประเทศจีน ประกอบกับหลายประเทศเริ่มออกนโยบายดึงผู้ประกอบการกลับมาลงทุนในมาตุภูมิ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นที่เริ่มมีการย้ายโรงงานกลับประเทศแล้ว เช่น Canon ทำให้ประเทศจีนต้องปรับตัวเองอีกครั้งหนึ่งภายในระยะเวลาสั้น ๆ

ด้วยแนวนโยบายที่ส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่เข้มแข็งดุจเหล็กกล้า ส่งผลให้ดึงดูดการลงทุนผ่านการตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูงขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศจีน เช่น Airbus บริษัทผู้ผลิตอากาศยานที่ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมในประเทศจีน Apple และ Mercedes ที่ต่างเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศจีนเช่นกัน ทำให้ประเทศจีนถูกเสริมทัพด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้มข้นจากบรรดาผู้ผลิตทั่วโลก นับเป็นความสำเร็จของนโยบายที่ปูพรมแดงไว้ให้กับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้เป็นอย่างดี

เมื่อภาวะปัญหาแรงงานราคาสูงที่เกิดขึ้นมาพบกับศักยภาพด้านนวัตกรรมที่รุดหน้าไม่น้อยไปกว่ายุโรป ด้วยการลงทุนด้านนวัตกรรมจากทั่วโลกทำให้จีนมีศักยภาพพร้อมสำหรับการใช้งานระบบออโตเมชันและเทคโนโลยีล้ำหน้าที่มีในโลกเกือบทั้งหมด ทำให้เกิดแนวโน้มการปรับเปลี่ยนมาใช้งานระบบอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์

ความพร้อมของจีนนอกเหนือจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาแล้ว เมืองเซินเจิ้นยังถูกแปรสภาพให้เป็น Silicon Valley หรือเมืองแห่งนวัตกรรมของจีน มีการซื้อขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทุกเกรด เป็นทั้งที่ตั้งบริษัทและแหล่งจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ในเวลาเดียวกัน ชี้ให้เห็นความพร้อมทางด้านสภาพแวดล้อมและบุคคลากรที่สามารถตบสนิงต่อการใช้งานเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี

หนึ่งในสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนอกเหนือจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น คือ ยอดรวมการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศจีนที่พุ่งขึ้นสูงกว่า 120,000 ตัว ต่อปี สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IFR หรือสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติที่ระบุถึงการใช้งานหุ่นยนต์ในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้อุตสาหกรรมจีนกระโดดข้ามทิ้งห่างอุตสาหกรรมจากประเทศอื่น ๆ สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าประเทศในเอเชียที่มีกำลังการผลิตเป็นแรงงานมนุษย์ในสายการผลิตเป็นส่วนมาก

จากแนวโน้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนารวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรม IT และเทคโนโลยีต่าง ๆ ประเทศจีนถือว่ามีความพร้อมในการแปรรูปแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นแรงงานที่มีศักยภาพในการใช้งานเทคโนโลยีและเครื่องจักรได้อย่างไม่ยากเย็น ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการผลิตจึงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

อุตฯ ไทยแข่งยังไงให้รอด

สำหรับประเทศไทย ผู้ผลิตและภาครัฐนั้นตระหนักถึงแนวโน้มความกังวลที่เกิดขึ้นในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านแรงงาน ศัยภาพการแข่งขัน หรือนโยบายการดึงดูดนักลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” รวมไปถึงนโยบาย EEC ที่พุ่งเป้าสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างแข็งขันโดยเน้นไปที่งานวิจัยที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นการเปิดโอกาสให้นักอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้กับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้น

จุดแข็งอีกหนึ่งประการของอุตสาหกรรมไทย คือ ประสบการณ์ที่ยาวนานและความเชี่ยวชาญในกิจการที่เกี่ยวข้อง อะไรคือกิจการที่เกี่ยวข้องครับ? หากนำมาผสมผสานกับการใช้งานเทคโนโลยีออโตเมชันซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้ประเทศไทยสามารถเจาะกลุ่มสินค้าระดับสูงซึ่งต้องการประสบการณ์และเทคโนโลยีได้อย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ที่ตั้งของประเทศไทยยังถือเป็นศูนย์กลางของ SEA ที่มีอาณาเขตติดกับหลากหลายประเทศอีกด้วย การเจาะกลุ่มตลาดเพื่อนบ้านหรือตลาดที่ผู้ผลิตมีความคุ้นเคยเป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการพุ่งเป้าแข่งขันหรือทัดทานลูกพี่ใหญ่อย่างจีน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่เข้มแข็งและการขานรับจากภาคเอกชนที่พร้อมเพรียง จีนได้ใช้จุดเด่นจากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นที่ตั้ง ต่อยอดด้วยการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศและการบังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างหนักแน่น ทำให้ประเทศจีนเติบโตอย่างมั่นคงด้วยการมีนวัตกรรมและงานวิจัยเป็นกระดูกสันหลังอันสำคัญยิ่ง ในขณะที่ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบาย EEC และประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีลักษณะทางโครงสร้างคล้ายกัน แต่การพุ่งเป้าตลาดขนาดใหญ่แบบที่จีนทำเห็นจะไม่เหมาะนักกับสิ่งที่ไทยเป็น การให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้าเดิมและประเทศใกล้เคียงถือเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจ การปรับเปลี่ยนสู่ระบบออโตเมชันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการศักยภาพในการแข่งขันท่ามกลางภาวะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งหากตั้งเป้าหมายคู่ค้าเป็นกลุ่มประเทศใกล้เคียงการเร่งลงทุนระบบอัตโนมัติจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตเหนือคู่แข่งได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกำลังการผลิต ต้นทุน ระยะเวลาการผลิต ถือเป็นการใช้ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมต่อยอดและช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ประเทศเพื่อนบ้านจะถีบตัวข้ามประเทศไทยไปอย่างไม่หวนกลับ


ที่มา:


  • http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AboutStudent/Document/Hist_ModernWorld/Century20th/pdf/China2.pdf
  • http://www.cina.bbc-llp.co.uk/core-business/formation-company-a-tax-advisory/tax-incentives-in-china.html
  • http://ieeexplore.ieee.org/stamp/stamp.jsp?arnumber=7254256
  • https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-08-22/china-s-robot-revolution-may-weigh-on-global-rebalancing

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จีนผลิตหุ่นยนต์ทะลุ 100,000 ตัว ในเวลา 10 เดือน

Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
Store Master - Kardex