NECTEC-ACE 2024 ตัวอย่างงานวิจัยก่อนเข้าชมงานวันจริง

ส่อง 11 ไฮไลต์เด็ดงานวิจัยไทยก่อนสัมผัสของจริงที่ NECTEC-ACE 2024

04.09.2024

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2567 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2024 (NECTEC–ACE 2024) ที่ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘The Next Era of Thai Intelligent Sensors: เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ’ แน่นอนว่าภายในงานมีทั้งการประชุมวิชาการและการจัดแสดงผลงานของนักวิจัยไทยที่หาดูได้ยาก แต่ก่อนจะไปถึงงาน MM Thailand ขอนำตัวอย่างงานวิจัยบางชิ้นมาเล่าให้ฟังกันสักหน่อยครับ

ภายในงาน NECTEC-ACE 2024 ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่เป็นฐานรากสำคัญของโลกยุคใหม่อย่าง ‘เซนเซอร์อัจฉริยะ’ ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ และการนำไปใช้งานใน AI ในอนาคตได้ ประเด็นสำคัญของเซนเซอร์อัจฉริยะนั้นอยู่ที่สามารถใช้งานได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม การผลิต การแพทย์ ไปจนถึงการขนส่งต่าง ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ตรวจจับข้อมูลอันหลากหลายแตกต่างกันเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งงานแต่ละรูปแบบได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การพัฒนาและการจับคู่เซนเซอร์เข้ากับแอปพลิเคชันแต่ละรูปแบบนั้นต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และการค้นคว้าวิจัยที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก เพราะหลายครั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของผู้คนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้นักวิจัยต้องทุ่มเทและใช้ความระมัดระวังในการวิจัยและพัฒนาโซลูชันใหม่ ๆ ขึ้นมา ทั้งในรูปแบบของทรัพยากรตั้งต้นหรือองค์ความรู้กลาง ไปจนถึงการประยุกต์ใช้งานกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และ NECTEC-ACE 2024 ที่กำลังจะจัดงานขึ้นนั้นจะมีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ให้กับผู้เข้าชมงานไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม นักวิชาการ และผู้ที่สนใจได้สัมผัสกันอ่างใกล้ชิด โดยในวันนี้ MM Thailand ได้นำตัวอย่างของงานวิจัยบางส่วนที่จะจัดแสดงภายในงานมาให้อ่านกันเรียกน้ำย่อยกันครับ

1. แพลตฟอร์มวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ ด้วยเครื่องวัดสัญญาณรามานแบบพกพาร่วมชิปขยายสัญญาณ
‘Diagnostic Medical Platform via Portable Raman Spectroscope Integrated with SERS Sensors’

เครื่องวัดสัญญาณรามานแบบพกพา (Portable Raman Spectroscopy) ใช้ร่วมกับชิปพื้นผิวขยายสัญญาณรามาน (Surface Enhance Raman Scattering: SERS) แบบโครงสร้างแท่งโลหะเงินนาโน ‘ONSPEC Prime’ ด้วยเทคนิค Mapping ข้อมูลและประมวลผลด้วยระบบ AI ผ่าน Cloud ในการจำแนก กลุ่มผู้ป่วยและชนิดของโรค ทำให้สามารถพยากรณ์โรคสำคัญได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น เช่น การพยาการณ์โรควัณโรค ไข้เลือดออก และมะเร็ง โดยทราบผลการตรวจวัดภายใน 30 นาที สามารถนำไปตรวจในพื้นที่นอกโรงพยาบาลหรือห้องทดลองได้ ทั้งยังรองรับระบบการจัดการข้อมูลแบบออนไลน์ทำให้มีการบริหารจัดการฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. TeraAnt: อุปกรณ์รับและส่งสัญญาณเทระเฮิรตซ์เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง
‘TeraAnt: THz Photoconductive Antenna’

อุปกรณ์รับและส่งสัญญาณเทระเฮิรตซ์เสาอากาศแบบตัวนำเชิงแสง ติดตั้งใช้งานในเครื่องเทระเฮิรตซ์สเปกโตรสโครปี สำหรับนำสัญญาณเทระเฮิร์ตมาใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุในอุตสาหกรรมอาหาร และยา จุดเด่นของนวัตกรรมนี้อยู่ที่กระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน สามารถผลิตได้ในปริมาณมากและรองรับการขยายผลในระดับอุตสาหกรรมและที่สำคัญที่สุด คือ ประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่าได้กับผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในท้องตลาด

3. TeraBoost: แผ่นบูสต์สัญญาณเมทะเซอร์เฟสสำหรับ 5G/6G
TeraBoost: Metasurface Passive Reflector for 5G/6G Signal Enhancement

แผ่นบูสต์สัญญาณเมทะเซอร์เฟซออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานบนเครือข่าย 5G โดยสามารถเพิ่มค่ากำลังของสัญญาณได้สูงสุดถึง 15 dB (ประมาณ 32 เท่า) ที่ความถี่ 26 GHz ด้วยการทำหน้าที่เสมือน WiFi Booster เพื่อเพิ่มกำลังและช่วยรวมสัญญาณให้โฟกัสไปยังบริเวณที่มีความต้องการใช้งานหรือบริเวณตำแหน่งอับสัญญาณและสามารถออกแบบให้รองรับ 6G ในอนาคตอันใกล้นี้ได้

4. ระบบคัดกรองภาวะโลหิตจางอัตโนมัติแบบใช้เลือดน้อย
An Automatic Anemia Screening System Using Blood Microsampling Techniques’ 

ระบบคัดกรองภาวะโลหิตจางอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้น ออกแบบให้ใช้งานง่าย ใช้ตัวอย่างเลือดน้อยลง 10 เท่า จากวิธีเดิม มีการอ่านค่าอัตโนมัติและพกพาได้ จะช่วยให้การตรวจคัดกรองเข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรใช้งานกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือการใช้งานกับเด็กอายุน้อยเป็นต้น [ข้อมูลเพิ่มเติม]

5. ไมโคสมาร์ต: ชุดตรวจสารพิษจากราแบบแถบทดสอบด้วยเทคโนโลยีไมโครอะเรย์
‘MycoSMART: Mycotoxin Strip Based-On MicroArray Technology

ชุดตรวจสารพิษจากรา (Mycotoxin) สามารถตรวจวัดสารพิษที่ปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตร Aflatoxin B1, Deoxynivalenol, Fumonisin B1, T-2 Toxin และ Zearalenone ได้พร้อมกัน สามารถพกพาใช้งานได้อย่างง่ายดาย มีการแสดงผลการตรวจวัดเป็นเชิงปริมาณได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังรองรับระบบจัดการข้อมูลแบบออนไลน์ ทำให้ MycoSMART สามารถใช้ในการตรวจคัดกรองวัตถุดิบทางการเกษตรในห่วงโซ่อุปทาเพื่อเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันและลดความเสียหายที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจและเกษตรกรได้

6. ระบบ LSPR สำหรับการประยุกต์ใช้งานด้านไบโอเซนเซอร์
‘LSPR Biosensor System

ระบบตรวจวัดที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุล โดย LSPR ประกอบด้วยชิปเซนเซอร์และเครื่องตรวจวัดสัญญาณความไวสูงที่สามารถแสดงผลแบบ Real-Time แต่มีต้นทุนที่ต่ำ สามารถนำไปใช้งานด้าน Biosensor สำหรับการตรวจหาสารชีวภาพทางการแพทย์และการศึกษาประสิทธิภาพของยาได้

7. GASSET-AIR: อุปกรณ์จำแนกกลิ่นรายละเอียดสูงจากแพลตฟอร์มพัฒนาแก๊สเซนเซอร์ชนิดสารกึ่งตัวนำแก๊สเซท
‘High-Resolution Odor Discriminator Based-On GASSET, the Semiconductor Gas Sensor Development Platform’

อุปกรณ์ตรวจวัดกลิ่นตัวอย่างหรือจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้รายละเอียดข้อมูลในการตรวจวัดสูงกว่าระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป ใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นเองภายในประเทศซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเซนเซอร์ภายในระบบด้วยแพลตฟอร์มแก๊สเซท ทำให้การจำแนกตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นที่ใช้วิธีการเชิงสถิติหรือที่ใช้กระบวนการ AI เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการเกษตร การแพทย์ อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม 
[ข้อมูลเพิ่มเติม]

8. ‘ดูโอ้อาย’ เครื่องอ่านสารเคมีปนเปื้อนในน้ำแบบพกพาและชุดตรวจคุณภาพน้ำ ‘เคมเซนซ์’
‘ ‘DuoEye‘ Portable Water Contaminant Reader and Water Quality Test Kit ‘ChemSense’’

เครื่องมือสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยอาศัยเทคโนโลยีเชิงแสงในการตรวจวัด (DuoEye) ใช้งานร่วมกับชุดตรวจคุณภาพน้ำ (ChemSense) เพื่อใช้ในการอ่านค่าสีแทนการมองด้วยตาเปล่า ลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น สามารถตรวจวัดสารเคมีได้หลายชนิดภายในเครื่องเดียว ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน พกพาสะดวก ราคาถูก มีระบบเก็บบันทึกข้อมูลอัตโนมัติ รวมถึงติดตามและรับส่งข้อมูลแบบออนไลน์

9. แพลตฟอร์มพื้นผิวเมตาสำหรับกล้องจุลทรรศน์แบบหลายฟังก์ชัน
‘Flat Optics with Metasurfaces Platform for 3-in-1 Optical Microscope’

การพัฒนาพื้นผิวเมตะสำหรับกล้องจุลทรรศน์แบบหลายฟังก์ชัน ได้แก่ การถ่ายภาพแบบปกติ การถ่ายภาพโพลาไรเซชัน และการถ่ายภาพขอบของวัสดุโปร่งใส ได้พร้อมกัน ซึ่งเป็นฟังก์ชันการทำงานแบบหลายมิติที่แปลกใหม่และไม่มีในกล้องจุลทรรศน์แบบทั่วไป โดยสามารถนำไปใช้เพื่อการตรวจวินิจฉัย/วิจัยทางชีวการแพทย์เพื่อให้แยกแยะความแตกต่างได้ดียิ่งขึ้น

10. cDDM แพลตฟอร์มสำหรับการประเมินคุณสมบัติการไหลของของไหลปริมาณน้อย
‘cDDM: Enabling Micro-Rheological Characterisation of Micro-volume Fluids’

ระบบและอุปกรณ์ใช้สำหรับตรวจวัดของไหลโดยใช้เทคนิคทางแสงเพื่อตรวจวัด ความหนืด Loss-Modulus Storage-Modulus โดยใช้ตัวอย่างในปริมาณน้อย สามารถเห็นผลการตรวจวัดได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที เหมาะสำหรับสารมูลค่าสูงและสารหายาก ทั้งยังมีประโยชน์ในการควบคุมสูตรผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงทำนายพฤติกรรมของวัสดุภายใต้สภาวะต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ

11. ระบบถ่ายภาพรังสีเอกซ์ด้วยกล้อง DSLR
‘X-Ray Imaging with DSLR Camera’

ระบบถ่ายภาพรังสีเอกซ์ด้วยกล้อง DSLR ที่มีขนาดเล็ก ราคาถูก ใช้งานได้หลากหลาย เช่น การวิเคราะห์คุณภาพผลผลิตทางการเกษตร คุณภาพชิ้นงานในอุตสาหกรรม สามารถถ่ายภาพภายในของแผงวงจรในกล่องปิดผนึกได้ ในอนาคตมีโครงการในการพัฒนาร่วมกับระบบวิเคราะห์ภาพถ่ายด้วย AI เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโซลูชันใหม่ ๆ หรือต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการใหม่โดยมีพื้นฐานจากนวัตกรรม พลาดไม่ได้กับงาน NECTEC-ACE 2024 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 10 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่ม (ฮอลล์ 4) เมืองทองธานี เข้าร่วมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย!

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีที่:
https://nectec.or.th/ace2024/

Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire