3MU Factory Productivity guide

ลดยังไงให้กำไรเพิ่ม รู้จักแนวคิด ‘3MU’ 3 สิ่งที่ต้องลดถ้าอยากเพิ่มกำไรให้โรงงาน

21.06.2024

เรื่องของการลดต้นทุนและขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในโรงงานนั้นถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการและชาวอุตสาหกรรมหลาย ๆ ท่านต่างก็ให้ความสำคัญ ด้วยการแข่งขันในปัจจุบันนั้นตัดสินกันที่ความเร็ว รูปแบบการทำงานในอดีตที่ไม่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบถูกปรับเปลี่ยนโดยเร็ว

แต่การจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในแบบเก่า ๆ ให้หมดไปได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ ภายในไม่กี่วัน เพราะหากจะให้ลดหรือปรับวิธีการทำงานในทันทีเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ หรือบางโรงงานก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องเริ่มเปลี่ยนจากจุดไหนกันแน่

mmthailand Sustainability

หากคุณกำลังมองหาคำตอบของวิธีการเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ วันนี้ MMThailand มีแนวคิดของการ ‘ลด’ ที่จะช่วยเพิ่มกำไรและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับธุรกิจของคุณได้อย่าง ‘3MU‘ มานำเสนอในวันนี้

‘Muda Mura Muri’ 3 สิ่งที่ต้องลดถ้าอยากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

หลักการ 3MU นั้นเป็นแนวคิดจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมุ่งเน้นไปที่การแก้ 3 ปัญหาสำคัญที่มักจะซ่อนอยู่ในการทำงานของทุกคนอย่างไม่รู้ตัว ได้แก่ Muda ความสูญเปล่า, Mura ความไม่สม่ำเสมอ และ Muri การทำงานเกินกำลัง

โดยทั้ง 3 สิ่งนี้ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังปัญหาในการทำงาน ฉะนั้นโรงงานที่สามารถกำจัด 3 สิ่งนี้ออกไปจากสายการผลิตของตัวเองได้นั้นก็จะสามารถทำการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตขององค์กรตนเองได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัดก็ตาม โดยการจัดการปัญหา 3MU แต่ละอย่างนั้นก็สามารถทำได้ดังนี้

Muda

Muda หรือ ความสูญเปล่า เป็นสิ่งที่ทำให้ต้นทุนในการทำงานสูงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผลผลิต คุณค่าหรือประสิทธิภาพสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในเรื่องของความสูญเปล่าในการทำงานนั้นก็สามารถแบ่งออกมาได้ทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้

  1. ความสูญเปล่าจากการผลิตเกินกว่าความจำเป็น
  2. ความสูญเปล่าจากการรองาน
  3. ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนย้าย
  4. ความสูญเปล่าจากวิธีการผลิต
  5. ความสูญเปล่าจากสต๊อกที่มากเกินไป
  6. ความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหวของคนหรือเครื่องจักร
  7. ความสูญเปล่าจากการผลิตของเสีย

ฉะนั้นโรงงานที่ต้องเจอกับความสูญเปล่าเช่นนี้อยู่บ่อย ๆ จึงควรมีการวางแผนและปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการทำงานของตนเองเพื่อให้เกิดเป็นรูปแบบและมาตรฐานในการทำงานที่มีความต่อเนื่องกันมากขึ้นและไม่ต้องเผชิญกับความสูญเปล่าเช่นนี้อีก

Mura

Mura หรือ ความไม่สม่ำเสมอ เช่นสิ่งที่ทำให้คุณภาพของชิ้นงานออกมามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ทำให้สินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมาไม่ได้มาตรฐานเท่ากันอย่างที่ควร โดยมีสาเหตุเช่นการมีกระบวนการทำงานที่ไม่ชัดเจน ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ หรือมีการกำหนดปริมาณงานที่ไม่ชัดเจนในแต่ละช่วง ต้องเร่งทำการผลิตเวลาที่มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

สำหรับโรงงานที่มีปัญหาในเรื่องของความสม่ำเสมอเช่นนี้ก็ควรจะมีการจัดตารางทำงานให้มีความต่อเนื่องมากขึ้นและทำการแบ่งกระจายการผลิตตลอดทั้งวันให้เท่า ๆ กันเพื่อลดปัญหาคอขวดในโรงงาน นอกจากนี้การมีระบบช่วยบริหารที่ดีอย่างซอฟต์แวร์ ERP/SCADA ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถช่วยโรงงานให้ทำการวางแผนและตัดสินใจได้ดีขึ้น

Muri

Muri การทำงานเกินกำลังหรือการทำงานที่เกินความสามารถ เช่นการทำงานที่มากเกินไปหรือทำงานที่ยากเกินไป ทำให้เกิดความผิดพลาดในการผลิตได้ง่ายและเกิดเป็นผลงานที่ไม่มีคุณภาพขึ้นมา ซึ่งปัญหาในส่วนของ Muri อย่างการที่พนักงานต้องทำงานเกินเวลาอยู่บ่อย ๆ และมีภาระ Workload เป็นจำนวนมาก หรือเครื่องจักรมีการใช้งานมากเกินไปนั้นยังอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในโรงงานได้อีกด้วย

โรงงานที่เจอกับปัญหาเช่นนี้ควรจะมีการวางแผนเพื่อจัดการการทำงานของเครื่องจักรและพนักงานให้เหมาะสม มีการกำหนดเวลาพักของแรงงานและเครื่องจักรให้เพียงพอ ลดการทำงานล่วงเวลาและวางแผนการผลิตให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้โรงงานสามารถเพิ่มทั้งประสิทธิภาพในการผลิตไปพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจของพนักงานได้

สุดท้ายนี้โรงงานใดก็ตามที่อยากจะก้าวหน้าสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนขึ้นในองค์กรของตัวเอง ก็อย่าลืมทดลองนำเอาแนวคิด ‘3MU’ ไปปรับใช้ในสายการผลิตของตัวเองกันดูนะครับ แล้วคุณจะพบว่าการ ‘ลด’ ในวันนี้จะนำมาซึ่งการเพิ่มในวันหน้าได้จริง ๆ

ที่มา : Dharmniti, Jobsdb

Jirapat R.
A Content Creator with multiple interests and a fitness enthusiastic.