เทรนด์ Digitalization ที่เกิดขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ รวมถึงการนำสินค้าออกสู่ตลาดซึ่งมีเทคโนโลยีมากมายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้น โดยเทรนด์สำคัญที่ Rockwell Automation มองว่าเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนั้นต่างมีส่วนในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างหลากหลายในปัจจุบัน
ความท้าทายที่สำคัญสำหรับเทรนดืจากดิจิทัล คือ การทำงานในสเกลที่แตกต่างกันอย่างไรให้ก่อเกิดคุณค่ามากที่สุด ซึ่งศักยภาพที่สำคัญของระบบดิจิทัลนั้นเป็นการนำมาต่อยอดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในการทำงานต่าง ๆ โดย 3 เทรนด์ที่น่าสนใจจากงาน Automation Fair 2018 มีดังนี้
IoT/Cloud Computing
การมาถึงของ IoT นั้นสนับสนุนให้เกิด Cloud Computing หรือการประมวลผลผ่านระบบ Cloud ส่งผลให้ Hardware ที่ใช้งานนั้นมีขนาดเล็กลงและทำงานได้รวดเร็วขึ้นในขณะที่ความสำคัญของคุณภาพจากระบบเครือข่ายและ Server เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน
การใช้งาน Cloud Computing นั้นส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนด้านระบบ Hardware พื้นฐานที่ลดน้อยลง เพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการเนื่องจากสามารถใช้อุปกรณ์พกพาอัจฉริยะต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน ในการประมวลผลและทำงานได้ ด้วยความได้เปรียบจุดนี้ทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพได้อย่างรวดเร็วสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ ด้วยต้นทุนที่ลดลง ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและความคล่องตัวของขนาดธุรกิจทำให้การมาถึงของ IoT และ Cloud Computing เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
ตัวอย่างการใช้งาน Cloud Computing หรือบริการ IoT ที่น่าสนใจ เช่น G Suite จาก Google ที่สนับสนุนการทำงานเอกสารครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์เอกสาร ทำตารางรายงานผล การนำเสนอข้อมูล รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลและส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
Data Scientist
อุตสาหกรรมยุคใหม่เต็มไปด้วยระบบอัตโนมัติที่ผลิตข้อมูลมหาศาลภายในช่วงเวลาเสี้ยววินาที ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในการวิเคราะห์การทำงาน ระบุปัญหา คาดการณ์แนวโน้มปรากฏการณ์ในอนาคต รวมถึงการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือสร้าง Lean ได้อย่างหมดจด
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลจำนวนมหาศาล การคัดกรองข้อมูลที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์กับการทำงานจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมาช่วย ซึ่ง Data Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพสำหรับการจำแนกและระบุข้อมูลได้เป็นอย่างดี โดยทักษะที่จำเป็น ได้แก่ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และธุรกิจ
หากลองจินตนาการถึงตัวคุณเองหรือคนที่ไร้ประสบการณ์ในการจัดการข้อมูลเมื่อต้องนั่งแยกกลุ่มข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครื่องจักรหนึ่งเครื่องที่มีทั้งรอบการหมุน การทำงานของมอเตอร์ การสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น เสียงของการผลิต แรงดันไฟฟ้า การทำมุมของเครื่องมือ ซึ่งยังไม่นับรวมถึงระบบสายพานลำเลียง การทำงานของเครื่องจักรและหุ่นยนต์อื่น ๆ อีกมากมาย ความสับสันของข้อมูลที่เกิดขึ้นจะมีมากมายแค่ไหน? ซึ่งนี่เป็นเพียงแผนกการผลิต ยังไม่รวมถึงแผนกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลังวัตถุดิบ ส่วนการตรวจสอบคุณภาพ การบริหารจัดการ หรือการตลาด ซึ่งทุกส่วนควรมีแรงงานที่มีทักษะพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำหน่วยเพื่อสร้างตัวกรองข้อมูลที่มีประสิทธิภาพต่อการทำงานเฉพาะแต่ละส่วนขึ้นมา
Augmented Reality
เทคโนโลยีเสมือนจริงก้าวเข้ามามีส่วนในงานอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ด้วยความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การสนับสนุนการทำานแบบ Real-Time สำหรับการผลิตและการซ่อมบำรุง
ความสำคัญของ AR ที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ไขปัญหาช่องว่างของทักษะในงานอุตสาหกรรมปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตอันใกล้ตำแหน่งงานด้านอุตสาหกรรมจะหายไป สืบเนื่องจากการเกษียณของแรงงานยุค Baby Boom ในขณะที่ความสนใจในงานอุตสาหกรรมสำหรับคนรุ่นใหม่นั้นไม่เพียงพอต่อตำแหน่งที่ว่างลง รวมถึงการฝึกอบรมทักษะให้พร้อมสำหรับการทำงานอุตสาหกรรมนั้นกินเวลายาวนาน เทคโนโลยีเสมือนจริงจึงสามารถตอบสนองต่อปัญหานี้ได้อย่างตรงประเด็น ด้วยการเสริมศักยภาพและความเป็นไปได้ของแรงงานที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แสดงผลเป็นภาพและร่วมมือทำงานกับเทคโนโลยีอย่างไร้รอยต่อ ทำให้การฝึกอบรมและการทำงานมีศักยภาพมากขึ้นผ่านการส่งต่อประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี
สำหรับคนที่สงสัยว่า AR, VR หรือ MR ต่างกันอย่างไร ความแตกต่างอยู๋ที่พื้นฐานการทำงานของข้อมูล โดย VR นั้นเป็นการทำงานบนโลกดิจิทัลเท่านั้น ในขณะที่ AR เป็นการทำงานในโลกจริง ส่วน MR เป็นการผสมผสานระหว่าง AR และ VR ทำให้เกิดการรวมกันระหว่างโลกดิจิทัลและโลกจริงขึ้นมา ซึ่งการทำงานของปรแกรมเสมือนจริงสามารถทำงานร่วมกับโปรแกรมจำลองต่าง ๆ ได้ สร้างการเรียนรู้เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วยเช่นกัน
เทรนด์ทั้ง 3 ทั้ง IoT/Cloud Computing, Data Scientist และ Augmented Reality นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ด้วยการใช้งานข้อมูลร่วมกันซึ่งการกรองข้อมูลและจัดประเภท แบ่งลำดับความสำคัญเป็นหน้าที่ของวิทยาศาสตร์ข้อมูล สำหรับจัดการข้อมูล ประมวลผลและส่งต่อข้อมูลเป็นหน้าที่ของ IoT ในขณะที่ AR นั้นเป็นทั้งผู้สร้างข้อมูล นำเสนอข้อมูล และใช้ข้อมูลดังกล่าวในเวลาเดียวกัน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนั้นจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการทำงานของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี สำหรับอุตสาหกรมขนาดกลางหรือขนาดเล็กอาจมองว่า ทั้ง 3 เทรนด์เป็นเรื่องไกลตัว แท้จริงแล้ว IoT นั้นเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันผ่านสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว สำหรับวิทยาศาสตร์ข้อมูลการพัฒนาต่อยอดทักษะเดิมจากทักษะ 1 ใน 3 ที่มีเป็นพื้นฐานของแต่ละคน เช่น การเรียนรู้ด้านธุรกิจเพิ่มเติมสำหรับวิศวกรควบคุมเครื่องที่มีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเรื่องยากหากคุ้นชินกับการคำนวณ ในด้านของ AR นั้นปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการให้บริการจากตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ผลิตเครื่องจักรในการใช้งาน ซึ่งแตกต่างไปตาแต่ละแบรนด์แต่แน่นอนว่าจะกลายเป็นมาตรฐานการบริการในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน