San IE Tech
ผลกระทบของสงครามการค้าต่อธุรกิจคลังสินค้า

5 ผลกระทบจากสงครามการค้าและอัตราภาษีที่มีต่อ ธุรกิจคลังสินค้า

Date Post
14.04.2025
Post Views

ปัญหาเรื่อง Geopolitics หรือภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามการค้าและการขึ้นภาษีจำนวนมหาศาลที่มีชนวนมาจากสหรัฐอเมริกา กลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจนำเข้าส่งออกรวมถึงผู้บริโภคทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านคลังสินค้าได้ออกมาเปิดเผยถึง 5 ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจคลังสินค้าเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

สงครามการค้าส่งผลกระทบทั่วโลก! สินค้าจากประเทศไทยสู่สหรัฐอเมริกาภาษีนำเข้า +36%

สถานการณ์ของ Geopolitics หรือภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าในปัจจุบันเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาที่น่ากังวล การเพิ่มภาษี (Tariff) ในการนำเข้าสินค้าของโดนัลด์ ทรัมป์เรียกได้ว่าสร้างผลกระทบให้กับผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศปลายทางของการส่งออกสินค้าจากทั่วโลกด้วย ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ติดรายชื่อบัญชี Dirty 15 ของโดนัลด์ทรัมป์

ประเทศที่มีการถูกขึ้นภาษีมากที่สุด คือ ประเทศจีนที่มีมูลค่าภาษีเพิ่มขึ้นกว่า 125% ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นภาษีตอบโต้นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่ประเทศเวียดนามที่ตอบรับต่อการขึ้นภาษีและเจรจาปรับลดภาษีให้สินค้าจากสหรัฐอเมริกาลดลงเป็นศูนย์ กลับได้คำตอบว่าประเด็นหลักไม่ใช่การปรับลดภาษี แต่กลับเป็นการจัดการปัญหาการโกง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะถูกปรับขึ้นมาขั้นต่ำ 10% และประเทศไทยเองมีอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็น 36%

คลังสินค้า กับ บทบาทการรับมือสงครามการค้า

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ คือ ต้นทุนที่พุ่งทะยานขึ้นมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตเองอย่างโรงงาน ตัวแทนจำหน่าย ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ไปจนถึงกลุ่มของคลังสินค้าที่ต้องหาแนวทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้นทุนด้านวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้วจะมีต้นทุนที่กระชากขึ้นไปชัดเจนแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเพียง 10% ก็ตาม

แนวทางการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของภาษีจากสงครามการค้าครั้งนี้สำหรับผู้ผลิตในสหรัฐอเมริการจึงกลายเป็นการลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการบีบผู้ประกอบการผ่านนโยบายของโดนัลด์ทรัมป์

5 ผลกระทบสงครามการค้าต่อธุรกิจ ‘ คลังสินค้า ‘

เรื่องของสงครามการค้าและการขึ้นภาษีนั้นแม้จะตั้งต้นมาจากเรื่องของนโยบายระหว่างประเทศ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงงานและคลังสินค้า สิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีสำหรับผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา คือ ทรัพยากรที่มีจะถูกจำกัด ไม่ว่าจะทรัพยากรเดิมหรือทรัพยากรใหม่ ใขณะเดียวกันประเทศต้นทางเองก็ต้องหาทางลดต้นทุนเพื่อที่จะทำให้สินค้าส่งออกเหล่านี้มีต้นทุนที่ต่ำลงเพื่อลดภาระของผู้นำเข้า และที่สำคัญต้องไม่มีชิ้นส่วนในซัพพลายเชนที่จะต้องถูกส่งออกเกี่ยวข้องกับประเทศที่โดนภาษีอัตราพิเศษ เช่น จีน เป็นต้น โดย Kardex Remstar ผู้เชี่ยวชาญด้านคลังสินค้าอัจฉริยะได้เปิดเผยถึงแนวโน้มผลกระทบหลักที่จะเกิดขึ้นจากการเรียกเก็บภาษี ได้แก่

1. ต้นทุนเพิ่ม

เมื่อภาษีถูกเก็บเพิ่ม ธุรกิจจำเป็นจะต้องมาหาจุดอื่น ๆ ที่สามารถลดต้นทุนแทนได้ อาจเป็นในเรื่องของแรงงาน โลจิสติกส์ หรือสินค้าคงคลัง แต่หลายครั้งกลับพบว่าการลดต้นทุนนั้นอาจเกิดขึ้นกับส่วนที่มีความสำคัญและจำเป็นของธุรกิจได้

2. ความเสี่ยงที่แฝงตัวอยู่ในซัพพลายเชน

สำหรับการโยกย้ายฐานการผลิตแล้ว ความท้าทายสำคัญสำหรับสหรัฐอเมมริกา คือ ความอ่อนไหวของซัพพลายเชนที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงสร้างซัพพลายเชนในประเทศอาจยังไม่พร้อมรับมือสำหรับปัจจัยเหล่านี้ แต่ในมุมของผู้ส่งออกกลับกลายเป็นการกระจายความเสี่ยงของซัพพลายเชนไปยังประเทศที่แตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบซัพพลายเชนให้แน่ใจด้วยว่าจะไม่มีการละเมิดข้อบังคับของคู่ค้า เช่น ถ้าส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกาชิ้นส่วนที่ส่งไปต้องไม่ได้ผลิตจากประเทศจีนเป็นต้น

3. ซัพพลายเชนมีการชะลอตัว

ในการส่งออกและนำเข้าที่เกิดขึ้นนั้น พิธีทางศุลกากรจะต้องมีการตรวจสอบที่ยาวนานยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ส่งออกหรือนำเข้า ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประเทศที่ส่งออกเองก็ต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง และในกรณีที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังหลากหลายประเทศมากขึ้น กระบวนการที่เกิดขึ้นก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน การเตรียมความพร้อมให้กับต้นทุนเวลาในการเก็บรักษาสินค้าจึงเป็นเรื่องที่สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนในประเด็นหนึ่ง

4. การวางแผนคลังที่ยากลำบากและซับซ้อนยิ่งขึ้น

จากปัญหาในข้อที่ 1, 2 และข้อที่ 3 ส่งผลทำให้เกิดการวางแผนการทำงานของคลังสินค้าที่มีความยากลำบากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบด้านซัพพลายเชน การออกแบบกิจกรรมของงานคลังสินค้าและด้านโลจิสติกส์ที่ต้องตอบรับต่อการกระจายความเสี่ยงในการส่งออกไปยังประเทศที่หลากหลาย ภายใตเงื่อนไขและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป คลังสินค้าบางแห่งได้เปลี่ยนจากการใช้เทคนิค Just-in-Time (JIT) ไปเป็น Just-in-Case (JIC) เพื่อรองรับพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

5. ต้นทุนที่เกิดจากความผิดพลาดสูงขึ้น

เมื่อกระบวนการมีการทำงานที่ซับซ้อนเเพิ่มมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น การเกิดความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยขึ้นในกระบวนการงานคลังสินค้าหรือโลจิสติกส์ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนทั้งเวลาและการเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดเป็นผลกระทบแบบโดมิโนได้ โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้นท่ามกลางแนวโน้มปัญหาคอขวดไม่ว่าจะเป็นเอกสาร หรือความผิดพลาดในการหยิบชิ้นส่วนอาจส่งผลต่อกิจกรรมในการส่งออกที่หนาแน่นยิ่งขึ้นของศุลกากรจนอาจกลายเป็นคอขวดได้

สายพานคลังสินค้า

‘ ระบบอัตโนมัติ ‘ ทางออกของ คลังสินค้าในการรับมือกับสงครามการค้าและภาษีที่เพิ่มขึ้น

หนึ่งในแนวคิดที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจการผลิต คือ การนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาเพื่อปรับปรุงการทำงาน ลดความสูญเปล่า และทดแทนทรัพยากรบางอย่างที่ขาดหายไป

เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ความท้าทายจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น การนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ในงานคลังสินค้าเพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องเกิดขึ้น โดยเทคโนโลยีที่น่าจับตาได้แก่

ASRS – Automated Storage and Retrieval System

ระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มความสามารในการจัดเก็บให้มีความหนาแน่นได้มากยิ่งขึ้นภายใต้คลังสินค้าที่มีพื้นที่เท่าเดิม เทคโนโลยี ASRS ใหม่ ๆ นั้นจะมาพร้อมกับระบบอัตโนมัติที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสภาพแวดล้อมภายใน ระบบด้านการติดตามและบริหารจัดการข้อมูล ไปจนถึงเทคโนโลยีสำหรับ Fool Proof ที่ป้องกันความผิดพลาดในการทำงาน ทั้งยังสามารถบูรณาการข้อมูลให้เข้ากับสายการผลิตและซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

Cobot & Industrial Robot

การทำงานพื้นฐานอย่างงาน Pick & Place หรือการย้ายตำแหน่งสินค้าหรือชิ้นงานนั้นสามารถเพิ่มความรวดเร็ว และสร้างความสม่ำเสมอในการทำงานได้โดยไม่ต้องกังวลแม้ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน การใช้งาน Cobot จะเหมาะสมกับการหยิบจับชิ้นงานที่มีโหลดไม่มาก หรืองานที่ต้องทำงานร่วมกับมนุษย์ ทั้งยังสามารถใช้งานได้ง่ายแม้ผู้ใช้งานจะมีทักษะที่ไม่ได้สูงนักก็ตาม ในขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปเหมาะสำหรับการหยิบจับชิ้นงานที่มีโหลดจำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่

AMR – Autonomous Mobile Robot

หุ่นยนต์เคลื่อนที่ AMR มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง ด้วยความสามารถในการตอบสนองต่อพื้นที่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งยังสามารถบูรณาการ

IIoT & AIoT & Machine Vision

เทคโนโลยีสำคัญในการตรวจจับกิจกรรมหรือข้อมูลที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ คือ เทคโนโลยีกลุ่มเซนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น Industrial Internet of Things (IIoT), Artificial Intelligence of Things และ Machine Vision ที่จะแปลงข้อมูลด้านกายภาพหลากหลายรูปแบบมาเป็นข้อมูลดิจิทัลที่ทำให้เกิดการมอนิเตอร์ข้อมูลได้แบบ Real-time จึงสามารถตอบสนองต่อเงื่อนไขได้อย่างเหมาะสม

Smart Conveyor

สายพานลำเลียงอัจฉริยะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การขนย้ายด้วยสายพานเป็นเรื่องง่าย ด้วยความสามารถในการออกแบบเลย์เอาท์ที่หลากหลาย ตอบสนองต่อเงื่อนไขการใช้งานที่ตกต่างกันหรือปรับแต่งให้เข้ากับ Demand ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจได้อย่างลงตัว

Smart Building

เทคโนโลยีด้านอาคารอัจฉริยะเป็นโครงสร้างสำคัญที่จะช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรด้านพลังงานของอาคาร ที่จะทำให้เกิดการติดตามข้อมูลที่โปร่งใสได้

แน่นอนว่าเรื่องของสงครามการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังคงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ธุรกิจคลังสินค้าต้องพิจารณาถึงการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน การวางแผน Work Flow ที่มีความยืดหยุ่นและมีเทคโนโลยที่ช่วยให้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอันอ่อนไหวได้อย่างมั่นใจจะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน

อ้างอิง:
Kardex-Remstar
BBC

เนื้อหาที่น่าสนใจ:
อัปเดตเทรนด์คลังสินค้าอัจฉริยะ AS/RS ปี 2025 กับ Store Master
Cobot คืออะไร ทำความรู้จักและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
AMR vs AGV: ความเหมือนและความต่างของหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้
Logo-Company
Logo-Company
Logo-Company
logo-company
Thossathip Soonsarthorn
"Judge a man by his questions rather than his answers" Voltaire
element14