“เมื่อหุ่นยนต์ทำการส่งชิ้นส่วนที่มีความละเอียดอ่อนให้กัน แขนกลของหุ่นเหล่านี้ควรจะอยู่ถูกที่และเวลาที่ต้องการ เพราะหากเกิดการคลาดเคลื่อนขึ้นแม้แต่เซนติเมตรเดียวหรือผิดพลาดไปไม่ถึง 1 วินาที ชิ้นส่วนที่มีค่าเหล่านี้ก็อาจจะเสียหายไปแล้ว” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Würzburg พูดถึงการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตและประกอบปัจจุบัน
ในปัจจุบัน การที่หุ่นยนต์สามารถสื่อสารและส่งข้อมูลให้กันได้นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งหากทำได้ผ่านระบบไร้สายและเครือข่าย 5G ที่รวดเร็วแล้วด้วย แต่ในโรงงานทุกวันนี้ เมื่อมีชิ้นส่วนขนาดใหญ่เข้ามาในช่วงเวลาเร่งด่วน ก็มักจะเกิดการขาดช่วงของข้อมูลและทำให้หุ่นยนต์เกิดการติดขัดขึ้นทันที ซึ่งนักวิจัยจาก Würzburg ก็กำลังหาทางออกให้ปัญหานี้อยู่
- ระบบ AI ที่เข้าใจสภาพเครื่องจักรจากการฟังเสียง
- สมาร์ทสกรูอัจฉริยะ ลด Downtime จากชิ้นส่วนเล็ก ๆ
- ML4P เสริมประสิทธิภาพโรงงานง่าย ๆ ด้วย Machine Learning
โรงงานแห่งอนาคต – เครือข่ายการสื่อสารที่มีความยืดหยุ่นสูง
โครงการวิจัยใหม่ในชื่อ “Converged Deterministic Industrial Networks in Heterogeneous Environments with Campus 5G” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Kosinu5 นั้น ได้เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้าน IT จาก Julius Maximilian University of Würzburg (JMU) ที่ต่างก็ต้องการหาวิธีป้องกันการติดขัดที่อาจจะเกิดในโรงงานมาร่วมกันพัฒนาระบบใหม่ขึ้น
ศาสตราจารย์ Tobias Hoßfeld ผู้นำโครงการนี้พูดถึงจุดมุ่งหมายว่า “ในโรงงานแห่งอนาคตนั้น ทุกพื้นที่ในโรงงานต้องสามารถพูดคุยส่งต่อถึงกันได้ ตั้งแต่ในคลังเก็บไปถึงหุ่นยนต์ โซนผลิตประกอบไปถึงจุดจัดส่ง” ซึ่งในเวลาเดียวกันการผลิตเองก็ต้องมีความยืดหยุ่น และควรจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องตั้งโปรแกรมใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ยุ่งยาก
ในการที่จะให้ระบบนี้ทำงานสำเร็จนั้น การสื่อสารระหว่างแต่ละส่วนในการผลิตจะต้องเชื่อถือได้แบบ Real-time และเพราะหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ได้นั้นไม่ควรใช้การเชื่อมต่อด้วยสายเคเบิล การสื่อสารนี้จึงต้องเป็นแบบไร้สาย ซึ่งตามหลักแล้ว การใช้เครือข่าย 5G ที่ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ ในโครงการ Kosinu5 จึงได้มีการเริ่มพัฒนาระบบที่จะตอบโจทย์มาตรฐานนี้ให้ได้ภายใน 3 ปี โดยระบบที่พัฒนาขึ้นจะต้องมีมาตรฐานและปรับตามการใช้งานได้ เพื่อให้ทุก ๆ บริษัทสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องขนาดหรือจำนวนหุ่นยนต์ในเครือข่ายการผลิตของตน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ยังต้องการพิสูจน์ว่าระบบของพวกเขาจะใช้งานได้จริงและสามารถตอบสนองได้แบบ Real-time อย่างที่ต้องการ
ระบบไฟจราจรของข้อมูลในอุตสาหกรรมการผลิต
ระบบนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนไฟจราจรที่คอยควบคุมการเดินทางให้รถยนต์ในเมือง แต่เปลี่ยนเป็นทำการควบคุมข้อมูลที่เดินทางผ่านไปมาแทน ซึ่งก็มีทั้งข้อมูลที่เร็วและช้าต่างกันไป แต่ระบบก็จะช่วยดูแลให้สามารถไปถึงที่หมายได้ตรงเวลา และจะต้องไม่เกิดการติดขัดของข้อมูลแม้จะมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น ในช่วงเร่งด่วน ข้อมูลกว่า 100 Gigabits ต่อวินาทีจะไหลเข้ามาทำให้ระบบต้องมีการตอบสนองที่รวดเร็วเพื่อไม่ให้เกิดการชะงักหรือขัดข้องขึ้น นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จึงใช้การสร้างเส้นทางที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทข้อมูล มีสถานีและศูนย์กลางในระบบที่คอยดูแลและเรียงลำดับความเร่งด่วนของข้อมูลที่เข้ามา
ภายใน 3 ปีหลังจากนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะทำการวัดและตรวจสอบการรับส่งข้อมูลจากหลาย ๆ โรงงาน รวมถึงสร้างห้องทดลองเพื่อนำเครือข่าย 5G มาทดสอบและพัฒนาระบบ หากว่าโครงการวิจัยนี้ไปได้ด้วยดี เราก็อาจจะได้เห็นความก้าวหน้าของการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคการผลิตมากขึ้นก็ได้ครับ