Robotics คือการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในอุตสาหกรรม ซึ่งหุ่นยนต์มีหลากหลายประเภทที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละรูปแบบ โดยแต่ละประเภทมีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกันไป
Linear Robot
หุ่นยนต์ที่ทำงานบนแกนตั้งฉากซึ่งหมายรวมถึงหุ่นยนต์แบบ Cartesian และ Gantry เอาไว้ด้วยกัน โดยสามารถทำงานได้บน 3 แกน X Y และ Z ด้วยการเคลื่อนที่แนวตรงทำให้การทำงานมีความแม่นยำสูงและออกแบบการทำงานได้ง่าย
มีขอบเขตการทำงานที่จำกัดอยู่ในพื้นที่แนวตรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ยืดหยุ่นเหมือนกับหุ่นยนต์ประเภทอื่น ต้องการพื้นที่การติดตั้งใหญ่กว่าหุ่นยนต์บางชนิด
SCARA Robot
หุ่นยนต์ที่มีความโดดเด่นเรื่องความคล่องแคล่วรวดเร็วแต่มีข้อจำกัดสำหรับระยะการปฏิบัติการณ์ มีข้อต่อขนานกัน 2 จุด เหมาะกับงานประกอบชิ้นส่วนที่ต้องการความรวดเร็วและมีขนาดเล็ก
การเคลื่อนที่จำกัดในแกนแนวตั้ง ทำให้ไม่เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการเคลื่อนไหวในแนวดิ่งมาก
Cylindrical Robot
หุ่นยนต์ที่มีข้อต่อโรตารีอย่างน้อย 1 จุดที่ฐานเพื่อทำการหมุนปรับทิศทาง แขนจับวัตถุเคลื่อนที่ขึ้นลงด้วยกระบอกนิวแมติก นิยมใช้ในงานประกอบชิ้นส่วน วิธีการเชื่อมจุด รวมถึงการจัดการเครื่องมือกล
ขอบเขตการทำงานมีข้อจำกัด ไม่เหมาะกับงานที่ต้องการการเคลื่อนไหวแบบยืดหยุ่นมากๆ และมีการใช้พื้นที่การติดตั้งขนาดใหญ่
Parallel Robot
Parallel Robot หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Delta Robot เป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแมงมุม ใช้การขยับในรูปทรงเรขาคณิตมีจุดเด่นในการขยับและจับชิ้นส่วนได้อย่างแผ่วเบาทำงานได้อย่างอิสระภายใต้แกน X Y และ Z เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์
มีพื้นที่การทำงานจำกัดและไม่เหมาะกับงานที่ต้องการโหลดน้ำหนักมาก โครงสร้างซับซ้อนอาจทำให้การบำรุงรักษายากขึ้น
Articulated Robot
หุ่นยนต์ที่ประกอบด้วยข้อต่อโรตารีตั้ง 3 จุดขึ้นไปและอาจมีมากได้ถึง 10 จุด โดยมากมักพบเจอ Articulated Robot แบบ 6 แกน สามารถใช้ในสายการผลิตได้อย่างหลากหลายด้วยมิติองศาการทำงานที่ค่อนข้างเป็นอิสระ รวมถึงความสามารถในการประยุกต์ใช้งานได้ตามลักษณะของสายการผลิตได้อย่างเหมาะสม รองรับขนาดชิ้นส่วนได้หลากหลายขึ้นกับศักยภาพของรุ่นจากแต่ละผู้ผลิต
ติดตั้งและควบคุมยากกว่าแบบอื่น ๆ เนื่องจากมีความซับซ้อนในโครงสร้าง การเคลื่อนไหวที่หลากหลายต้องการซอฟต์แวร์ควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
Polar Robot
Polar Robot หรือ Spherical Robot หุ่นยนต์ที่ประกอบด้วยข้อต่อโรตารีอย่างน้อย 2 จุด และจุดเชื่อมต่อแบบขนานอย่างน้อย 1 จุด การทำงานเป็นรูปแบบตายตัวเนื่องจากมีมุมขยับและมิติองศาที่ถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว
ไม่สามารถเคลื่อนที่แบบซับซ้อนได้เท่าหุ่นยนต์แบบ Articulated และมีความแม่นยำต่ำกว่าหุ่นยนต์ประเภทอื่น
Autonomous Mobile Robots (AMRs)
หุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่และทำงานได้โดยอัตโนมัติภายในโรงงานหรือคลังสินค้า โดยใช้เทคโนโลยี AI และเซนเซอร์นำทางอย่างแม่นยำ เหมาะสำหรับการขนส่งวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
ต้องการการตั้งค่าและระบบสนับสนุนขั้นสูงเพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานที่ที่ซับซ้อน มีความซับซ้อนในซอฟต์แวร์และอาจมีต้นทุนสูง
Automated Guided Vehicles (AGV)
หุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่โดยระบบขนส่งอัตโนมัติที่ติดตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า มักใช้เส้นทางแบบแม่เหล็กหรือแถบสีเพื่อการควบคุม เสถียรและทนทาน ใช้งานได้ดีในโรงงานและคลังสินค้า
ขาดความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง ไม่สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานในการนำทาง