ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2566 เพิ่มสูงสุดในรอบ 43 เดือน จากการขยายตัวของสินค้าอุปโภคบริโภค และมาตรการช้อปดีมีคืน เสนอรัฐปรับค่าไฟงวด 2 ลดภาระ-ต้นทุนผู้ประกอบการ
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือนธันวาคม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ
[Live!] ใบพัดโดรนรุ่นใหม่จาก MIT เสียงเงียบลงกว่าเดิม ! | FactoryNews ep.44 / 10 Feb 2023
ปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งอานิสงส์ของมาตรการช้อปดีมีคืน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศของจีน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อเนื่องในปัจจัยด้านราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาททำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลง
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,321 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมกราคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 73.0 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 58.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 50.2 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 48.6 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 36.8 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 35.0 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 99.9 ในเดือนธันวาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.เสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดที่ 2 สำหรับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ 2.เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ยังมีปัญหาสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียน 3.เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ที่ได้เปรียบไทยเรื่องสิทธิทางภาษีต่างๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ FTA ระหว่างไทย-GCC (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ)