ส.อ.ท. คาดปีนี้ การจ้างงานยังมีแนวโน้มคงที่ แนะภาครัฐเร่งสนับสนุนและส่งเสริมประสิทธิภาพแรงงานไทย สู่มาตรฐานสากล
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ซึ่งแรงงานถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคการผลิตของไทย ส.อ.ท. จึงได้มีการสำรวจความเห็น FTI Poll ครั้งที่ 28 ในเดือนเมษายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองของภาคอุตสาหกรรมต่อการจ้างงานและการปรับตัวของแรงงานในอนาคต” โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มองว่า อัตราการจ้างงานในปัจจุบันได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แล้ว และคาดว่าในปีนี้การจ้างงานจะยังมีแนวโน้มคงที่ต่อไปฃ
นักวิจัย MIT พิมพ์หัวใจเทียมเพื่อการตรวจสอบก่อนผ่าตัดได้สำเร็จ | FactoryNews ep.51/6
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและชะลอตัว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการแรงงานและการจ้างงาน ที่ได้ให้ความสำคัญกับการ Upskill/Reskill และสร้าง New Skill เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับการดำเนินธุรกิจในยุคใหม่ รวมถึงมีการเริ่มใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตทดแทนการใช้แรงงานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาประสิทธิภาพแรงงาน
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งการขยายสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานเพื่อ Upskill/Reskill เป็นลดหย่อนภาษีได้ 250% เท่ากับการอบรมทักษะขั้นสูงที่ได้รับการรับรองจาก สอวช. เพื่อจูงใจภาคเอกชนให้มีการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานในทุกด้าน
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 เป็น ทักษะทางวิศวกรรม (Engineering Skills) อันดับ 2 เป็น ทักษะทางดิจิทัล (Digital Skills) และอันดับ 3 เป็น ทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics)