ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ปัจจุบันมีเอกชนมาใช้บริการแล้วกว่า 300 ราย ย้ำพร้อมเดินหน้าลุยพัฒนาเฟส 2 คาดแล้วเสร็จ 100% พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2569
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างนำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์ทดสอบ ยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center – ATTRIC) หรือ แอดทริก ว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว 55% ใช้เงินงบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินงบประมาณ 1,667.69 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2569
แอดทริกหรือศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ โดยแอดทริกจะเป็นสถานที่ทดสอบยานยนต์ (Automotive) และยางล้อ (Tyre) มาตรฐานระดับโลก และจะเป็นฮับการทดสอบ (Testing) การวิจัย (Research) และนวัตกรรม (Innovation) อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก คาดว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ ประมาณ 30% – 50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี โดยตั้งแต่เปิดให้บริการสนามทดสอบยางล้อ สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2562 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการสนามทดสอบยางล้อแล้ว จำนวนกว่า 300 ราย
โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการบนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ
เฟสที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) อาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 จำนวน 2 รายการได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบความต้านทานการหมุน และชุดเครื่องมือทดสอบมลพิษทางเสียงขณะหมุนและการยึดเกาะถนนบนพื้นผิวเปียก โดยเปิดให้บริการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117
เฟสที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนสนามทดสอบแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้แก่ อาคารควบคุมการทดสอบสนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill)) สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform) สนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad) รวมทั้งดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย ระบบยึดแบบไอโซฟิก และจุดยึดไอโซฟิกทอปเทเทอร์ ชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศรีษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบห้ามล้อสำหรับรถยนต์บรรทุกและห้ามล้อสำหรับรถยนต์นั่งแล้วเสร็จ คงเหลือเพียงการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะตามมาตรฐาน UN R117 ทางวิ่ง (Run-In)
ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ จัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนการเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้างของยานยนต์
ที่มา:
tna.mcot.net