ผลการศึกษาล่าสุดจาก Danebury Research ได้ระบุว่าภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางรอบโลกต่างก็มีความล้าหลังในการป้องกันกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
- 5 วิธีใช้ AI ช่วยลดความเสี่ยงในโรงงานอุตสาหกรรม
- 60% ของการโจมตีทางไซเบอร์ในภาคอุตสาหกรรมเกิดจากองค์กรที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง
การศึกษาในครั้งนี้ได้ถูกดำเนินการในนามของ Sage บริษัทองค์กรข้ามชาติด้านระบบซอฟต์แวร์ที่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าบริษัท SMEs ทั่วโลกมีการรับรู้ถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างไรบ้าง โดยได้มีการเก็บข้อมูลจากผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรระดับ SMEs ที่มีพนักงานไม่เกิน 499 คนใน 9 ประเทศรอบโลก ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, โปรตุเกส, สเปน, แอฟริกาใต้, แคนาดาและ ออสเตรเลีย
โดยผลจากการศึกษานั้นได้สรุปว่าบริษัท SMEs เพียง 4 ใน 10 เท่านั้นที่มีการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่เป็นประจำ ในขณะที่ SMEs ส่วนมากจะมีการตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีบางอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดข้อผิดพลาดภายในขึ้นเท่านั้น
และอีกหนึ่งในจุดที่น่าสนใจจากการศึกษาในครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าในแง่ของบริษัทขนาดเล็ก-กลางนั้น ยิ่งบริษัทมีขนาดเล็กเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่บริษัทจะมีความกังวลในเรื่องของ Cybersecurity น้อยลงตามไปด้วยเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์น้อยลงตามไปด้วยนั่นเอง
ผลจากการศึกษายังได้สรุปเอาสถิติที่น่าสนใจมาไว้ด้วยดังนี้
- จากการสำรวจทั่วโลกพบว่าในปีที่ผ่านมา บริษัท SMEs กว่า 48% มีการประสบปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และอีกกว่า 25% พบกับปัญหาด้านนี้ไปมากกว่าหนึ่งครั้ง
- SMEs กว่า 70% มองว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นปัญหาที่สำคัญ
- SMEs ประมาณ 56% ต้องการข้อมูลและการสนับสนุนจากบริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในขณะที่ 45% ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ
ทาง Sage ยังได้กล่าวถึงความท้าทายขององค์กร SMEs ในการรักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการเติบโตไปพร้อม ๆ กันที่อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็เป็นสิ่งที่บริษัทเหล่านี้จะมองข้ามไปไม่ได้ภายในยุคของการทำงานแบบดิจิทัล การสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยีและหน่วยงานภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีความตื่นตัวด้าน Cybersecurity มากขึ้น และจะช่วยยกระดับความไว้วางใจของผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้นได้นั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : MaschinenMarkt