นักวิจัยจาก LMU ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนีได้สร้างสถิติโลกใหม่ในการผลิต Green hydrogen ด้วยแสงแดดได้สำเร็จด้วยการพัฒนานวัตกรรมโครงสร้างนาโนประสิทธิภาพสูง
- เขียว น้ำเงิน เทา ? ทำความรู้จักกับ “สี” ของไฮโดรเจน
- Toyota ร่วมมือ CP เตรียมผลิตเชื้อเพลงไฮโดรเจนจาก ‘มูลไก่’
- บินนานขนส่งหนักได้มากกว่าเดิม โดรนพลังงานไฮโดรเจน H2D55
โดยงานวิจัยในครั้งนี้ที่นำโดยศาสตราจารย์ Emiliano Cortés และทีมงาน LMU Nano Institute ได้นำเอาวัสดุอนุภาคทองคำและแพลทินัมขนาดนาโนเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเร่งปฏิกิริยาและพัฒนาซูเปอร์คริสตัลที่ใช้ประโยชน์จากการสั่นพ้องของอิเล็กตรอนในโลหะพลาสโมนิกขึ้นมาได้สำเร็จ
โครงสร้างนาโนที่อยู่ในซูเปอร์คริสตัลนี้จะทำหน้าที่เหมือนซูเปอร์เลนส์ที่เพิ่มความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับโมเลกุล และส่งผลให้เกิดการสร้างอิเล็กตรอนพลังงานสูงที่เอื้อให้เกิดปฏิกิริยาเคมี ช่วยเพิ่มการดูดกลืนแสงและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนกรดฟอร์มิกเป็นไฮโดรเจน
เพิ่มเติมจากผู้เขียน : สาเหตุที่ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนมากในปัจจุบันยังคงมีความท้าทายในการผลิตพลังงานอยู่นั้นมาจากการที่แสงแดดที่ส่องมายังโลกนั้นอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า ‘เจือจาง’ จากการเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกและทำให้ความเข้มข้นของพลังงานลดลง แผงโซลาร์เซลล์ส่วนมากจึงต้องชดเชยด้วยการติดตั้งแผงครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่แทน
สถิติโลกในการผลิตไฮโดรเจนจากแสงอาทิตย์
สำหรับอัตราการผลิตไฮโดรเจนที่มาจากกรดฟอร์มิกของระบบนั้นอยู่ที่ 139 มิลลิโมลต่อชั่วโมงต่อกรัมของตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งทำให้ระบบนี้กลายเป็นเจ้าของสถิติโลกในการผลิตไฮโดรเจนจากแสงอาทิตย์ และยังนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตไฮโดรเจนที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ก็ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเทคโนโลยีนี้ยังมีศักยภาพในการนำไปใช้กับปฏิกิริยาเคมีอื่น ๆ อย่างการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นสารที่ใช้งานได้อีกด้วย เรียกได้ว่าความสำเร็จของงานวิจัยในครั้งนี้จะสามารถช่วยปูทางไปสู่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านพลังงานและด้านการเร่งปฏิกิริยาได้อย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียวครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม : MachinenMarkt