ทช. ผนึก Dow ร่วมมือ 6 องค์กร ขยายเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน ดึงเยาวชนมีส่วนร่วมด้วยหลักสูตรและแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเทศบาลตำบลปากน้ำประแส ได้ประกาศความร่วมมือเพิ่มเติมกับ 4 องค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ FEED มูลนิธิโลกสีเขียว ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และบริษัท SecondLife ยกระดับการดำเนินโครงการ “ดาวและภาคีป่าชายเลนประเทศไทย” หรือ Dow & Thailand Mangrove Alliance สู่โมเดลต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ
Automation Expo 2022 | Automation Technology Showcase for META Manufacturing
โดยกิจกรรมสำคัญในปีนี้ มีแผนที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิต สร้างองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนของไทยให้มีความสมบูรณ์ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว Blue carbon destination เชิงนิเวศครบวงจร สร้างต้นแบบการจัดการขยะทะเลในชุมชนริมน้ำ และเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนด้วยแอปพลิเคชัน iNaturalist ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) เพื่อให้ความรู้และจัดเก็บฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมสำรวจห้องเรียนธรรมชาติ สร้างความตื่นตัวในการ่วมมือฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และขยะทะเลตามแผน (Roadmap) ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2567) เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอ่าวไทย-ทะเลอันดามันไปสู่ระดับสากล
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ไม่ใช่บทบาทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันฟื้นฟูและแก้ปัญหา เพื่อให้การอนุรักษ์ป่าชายเลนประสบความสำเร็จและยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐ เอกชนและชุมชน ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ. 2608”
ด้านนายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ 4 องค์กรชั้นนำได้เข้ามาร่วมกันยกระดับโครงการฯ โดยนำความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ของแต่ละองค์กรเข้ามาพัฒนาการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วมให้ครบถ้วนในทุกมิติเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดโลกร้อนและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ Dow ที่มุ่งมั่นจะต้านโลกร้อน และลดขยะพลาสติก”
ขณะที่ ดร.ดินโด แคมปิลัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย และผู้อำนวยการศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียและโอเชียนเนีย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติกล่าวว่า “ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ป่าชายเลนแม้มีพื้นที่ไม่เยอะเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าประเภทอื่น แต่สำหรับบทบาทของระบบนิเวศชายฝั่งแล้ว ป่าชายเลนช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 14% ของสัดส่วนการกักเก็บคาร์บอนในทะเลของโลก (Global ocean)”
ดร.ฉวีวรรณ หุตะเจริญ ประธานมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า “พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนเป็นเหมือนพื้นที่ปลูกป่าในใจของเด็กและเยาวชนที่ได้มีโอกาสเข้ามามาสัมผัสตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า ‘การปลูกป่าต้องปลูกที่หัวใจไม่ใช่เพียงปลูกลงบนพื้นดิน’ ซึ่ง FEED จะประเมินศักยภาพในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาเส้นทางธรรมชาติและออกแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น นำนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ เป็นการต่อยอดโครงการฯ ให้สมบูรณ์ขึ้น”
ด้าน ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า “โครงการนักสืบป่าชายเลนจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นเรื่องน่าสนุกและน่าค้นหา โดยในปี พ.ศ.2565 มีเป้าหมายจัดค่ายนักสืบป่าชายเลนให้กับเยาวชนจำนวนสองครั้ง เพื่อสร้าง Generation Restoration ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการสนับสนุนเป้าหมายขององค์การสหประชาติ ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ (UN Decade for Ecosystem Restoration)”
นางสาววรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวว่า “รีคอฟจะมีบทบาทรับผิดชอบในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรให้กับโรงเรียนในพื้นที่เป้าหมายในเรื่องการสำรวจและเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกรวน (Biodiversity & Climate Change) โดยจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งของคุณครู นักเรียน และชุมชน ได้รู้จักและเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนตนเอง และเพื่อนำไปสู่การจัดการที่ยั่งยืนต่อไป”
นายนิก สุภัทรวณิชย์ ผู้จัดการโปรแกรม บริษัท SecondLife กล่าวว่า “คำถามไม่ใช่แค่ทำไมเราต้องดำเนินการเกี่ยวกับพลาสติกในทะเล แต่เราควรดำเนินการอย่างไร พลาสติกในทะเลส่วนใหญ่ที่เก็บรวบรวมจริง ๆ แล้วไม่มีมูลค่าในตลาด จึงกลับกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบ ที่ Second Life เราไม่เพียงแต่สนับสนุนห่วงโซ่การรวบรวมพลาสติกทะเลในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชนและประสิทธิภาพการจัดการขยะโดยรวมของประเทศ”